นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยระบบและการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เปิดเผยว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบน้ำหมุนเวียนในต่างประเทศ ได้มีการทดลองวิจัยมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่การพัฒนาเพื่อ นำมาใช้ในเชิงการพาณิชย์ เพิ่งจะเริ่มได้เมื่อประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา การเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบน้ำหมุนเวียนมีข้อได้เปรียบที่ลดการใช้พื้นที่ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำทำให้สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลมากนัก แต่การเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบน้ำหมุนเวียนในอดีตไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อันเนื่องมาจากการออกแบบระบบที่ไม่ดี การจัดการระบบที่ไม่ถูกต้อง สัตว์น้ำป่วยเป็นโรคเนื่องจากการสะสมเชื้อโรคในระบบ
กว่า 5 ปี ที่สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา กรมประมง ได้ศึกษา วิจัยเพื่อหาทางออกให้กับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อซีเมนต์ระบบน้ำหมุนเวียน เป็นบ่อกลมขนาด 15 ลบ.ม. แต่ใส่น้ำแค่ 12 ลบ.ม. โดยเลี้ยงปลาขนาด 150 กรัม จำนวน 500 ตัว ใช้เวลา 7 เดือน ผลปรากฏว่าปลามีอัตรา การรอดตายถึง 87% ขนาดตัวเฉลี่ยน้ำหนัก 0.75 กิโลกรัม ที่น่าสังเกตคืออัตราการแลกเนื้อต่ำกว่าปกติที่เลี้ยงในกระชังทั่วไป ซึ่งหมายความว่าต้นทุนค่าอาหารปลาลดไปครึ่งหนึ่งด้วย
จากความสำเร็จนี้ ทางกรมประมงจึงขยายผลการพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงสู่เชิงพาณิชย์ โดยทดลองในบ่อเลี้ยง หลากหลายขนาด ซึ่งพบว่าบ่อเลี้ยงขนาด ที่ 30-40 ลบ.ม. เหมาะสมที่สุดเนื่องจาก ไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป กะทัดรัดลงทุนไม่มาก เป็นบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 5 เมตร ก้นบ่อเป็นทรงกรวย ลึก 2 เมตร ตรงกลางบ่อลึกกว่าขอบ 1 เมตรซึ่งสามารถรวบรวมของเสียตะกอนต่าง ๆ ออกได้ง่าย ทำให้ลดการสะสมของตะกอนภายในบ่อเลี้ยง
ใส่น้ำประมาณเมตรครึ่ง จะได้ปริมาตรน้ำ 36 ตัน บ่อจะบุด้วยผ้าใบที่ซีลด้วยความร้อน ป้องกันการรั่วไหลของน้ำ ตรงกลางก้นบ่อวางท่อขนาด 3 นิ้ว สำหรับให้น้ำทิ้งหมุนเวียนไปยังบ่อตกตะกอน พื้นบ่อเป็นทรงกรวย ลึกจากระดับพื้นขอบบ่อประมาณ 1 เมตร เมื่อเวลาน้ำหมุน จะได้นำเอาตะกอนต่าง ๆ ลงสู่ก้นกรวย นำไปสู่บ่อตกตะกอนต่อไป ทำให้คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงดีขึ้น น้ำใสขึ้น จัดทำรางน้ำให้สามารถรองรับอัตราการไหลสูงสุดที่ 1,200 ลิตรต่อนาที หรือ 1,728 ลบ.ม.ต่อวัน โดยใช้ถังขนาด 200 ลิตร เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 50 ซม. ผ่าครึ่งมาวางเรียงกัน ภายในวางผ้าใบขนาดหนาพิเศษ แบบเดียวกับที่ใช้ทำบ่อ เจาะรูผ้าใบตรงแนวบ่อต่อไปยังท่อพีวีซีขนาด 3 นิ้ว โดยมีวาล์วคอยควบคุมการไหลของน้ำ
นายยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการบำบัดน้ำทิ้งมี 3 ขั้นตอน คือ 1. บ่อตกตะกอนรูปวงกลมก้นทรงกรวย กว้าง 5 เมตร ลึกสุด 2.5 เมตร สำหรับตกตะกอนและสามารถเปิดวาล์วไล่ตะกอนทิ้ง โดยใช้ท่อขนาด 2 นิ้ว ส่งตะกอนไปเก็บที่บ่อเก็บตะกอน เมื่อมากพอแล้วจึงนำไปกำจัด 2. ระบบบำบัดน้ำทิ้ง ประกอบไปด้วยตาข่ายชั้นเล็ก ขนาด 1x1 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ในการกวน เพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยแอมโมเนีย ได้ถึง 80% ระบบบำบัดสร้างท่อคอนกรีต เสริมเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม. สูง 4 ม. จำนวน 8 บ่อ โดยให้น้ำทิ้งผ่านเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่อง 3. ระบบ กำจัดโปรตีนไขมัน โดยใช้ถังทรงกระบอกสูงประมาณ 2.5 เมตร กว้าง 50 ซม. ตรงปากถังทำให้เป็นทรงกรวยคว่ำเพื่อใช้ดักฟองที่เกิดจากคราบโปรตีนไขมัน ภายนอกมีถังครอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อรวบรวมฟอง ต่อท่อจากชั้นนอกนี้ ลงสู่ถังเก็บน้ำเมือก ต่อปั๊มน้ำขนาด 2 แรงม้า 2 นิ้วเข้าสู่ถัง ทางน้ำเข้าให้เอาฟองอากาศเติมเข้าไป เพื่อให้ใบพัดปั๊มปั่นให้เกิดฟอง ต่อท่อน้ำออกขนาดให้ใหญ่กว่าทางน้ำเข้า พร้อม วาล์วปรับระดับน้ำ เพื่อดันให้ฟองเกือบถึงปากกรวย การเลี้ยงปลากะพงขาวในเชิงพาณิชย์ ในระบบน้ำหมุนเวียนของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา กรมประมง พบว่ามีความเป็นไปได้สูงในการต่อยอดและขยายผลสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ จากการทดลองล่าสุดวิธีนี้สามารถเลี้ยงปลากะพงขาวได้ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัมต่อ 1 ลบ.ม. ได้เป็นอย่างดี สามารถให้ผลตอบแทนพอสมควร การเลี้ยงปลากะพงขาวที่ความหนาแน่นสูงในระบบน้ำหมุนเวียน ยังสามารถพัฒนานำไปใช้เลี้ยงปลาทะเลเศรษฐกิจ ชนิดอื่นที่มีราคาแพงได้ เช่น ปลากะรัง ปลาช่อนทะเล ปลากุดสลาด เป็นต้น เพื่อลดภาวะความเสี่ยงจากการเลี้ยงปลาในแหล่งธรรมชาติ เช่น น้ำเสีย โรคระบาด และคลื่นลม นายยงยุทธ กล่าว นับเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จของวงการประมงไทยที่สามารถนำผลจากการศึกษาวิจัยมาขยายผลเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีทางเลือกเพื่อการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์