สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา กรมวิชาการเกษตร วิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้มีคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งผลงานวิจัยนี้ กรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาคัดเลือกเป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2552 ประเภทงานพัฒนางานวิจัย นางสาวสุพร คังฆมณี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา หัวหน้าทีมนักวิจัยเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้มีคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ปกติการปลูกลองกองในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จะปลูกเป็นพืชแซมและเป็นไม้ผลหลังบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ตระหนักถึงข้อดีของการผลิตลองกองคุณภาพ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกร โดยยก ระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น เบื้องต้นได้ศึกษาวิจัย เทคโนโลยีการผลิตลองกอง ในแปลงเกษตรกร จ.สงขลา พัทลุง และสตูล โดยดึงเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการวิจัยด้วย ทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่ อาทิ ปริมาณและคุณภาพผลผลิตเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช ปัญหา ผลร่วง ผลแตก และปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จากนั้นได้นำเทคโนโลยีการผลิตลองกองที่ได้จากงานวิจัยเข้าไปแนะนำ ให้เกษตรกรประยุกต์ใช้ทั้งยังได้จัดฝึก อบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ แล้วให้ลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง พร้อมเปรียบเทียบผลกับวิธีผลิตแบบเดิม พบว่าการจัดการสวนลองกองตามวิธีแนะนำ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 45.1% และยังได้ลองกองคุณภาพเกรด A มากที่สุดถึง 51.6% ซึ่งช่วยให้ขายได้ราคาสูงขึ้น ขณะที่วิธีเดิมของเกษตรกรได้ผลผลิตลองกองเกรด C 34.8% อีกทั้งยังพบว่า การผลิตลองกองตามวิธีแนะนำให้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีของเกษตรกร ถึง 7,916 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นคิดเป็น 72.5% ซึ่ง เทคโนโลยีที่เกษตรกรให้การยอมรับและนำไปปฏิบัติ คือ การ ตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การใช้ไส้เดือนฝอย การตัดแต่งช่อดอกต่อช่อผลต่อปลิดผล และการคัดเกรดผลผลิต เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้มีการวิจัย เทคโน โลยีการจัดการโรคลองกอง ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร โดยเปรียบเทียบกับวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่เดิม พบว่า การใช้วิธีผสมผสานระหว่างการใช้สารเคมี benomyl 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือจุลินทรีย์ Bacillus subtilis 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ร่วมกับการตัดแต่งกิ่งและการจัดการสวนที่ดี มีแนวโน้ม ลดความรุนแรงของระดับการเกิดโรคราดำได้ นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ศึกษา วิจัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวลองกองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งได้ผลสรุปว่า การยืดอายุการเก็บรักษาลองกองโดยการรมด้วยสาร 1-MCP ที่ระดับความเข้มข้น 500 ppb และหุ้ม ด้วยโฟมเน็ตร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน (ด่างทับทิม) แล้วเก็บรักษาในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาลองกองได้นานถึง 14 วัน ปัจจุบัน สวพ.8 สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วกว่า 3,800 ราย ทั้งยังได้สร้างแปลงต้นแบบเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน 10 แปลง 51 ไร่ พร้อมขยายผลเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองไปสู่เกษตรกรเพิ่มเติมอีกกว่า 440 ราย พื้นที่ 880 ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้น ซึ่งวิธีแนะนำทั้ง 3 วิธี สามารถสร้างรายได้ให้ชาวสวนลองกองที่เข้าร่วมโครงการฯเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,198-11,974 บาทต่อไร่ หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลองกองให้มีคุณภาพ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา โทร. 0-7444-5905-6.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์