ยางของต้นรัก ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาด ใหญ่ มนุษย์รู้จักวิธีนำยางรักมาใช้ประโยชน์นานกว่า 4,000 ปีแล้ว ด้วยการนำมาเคลือบภาชนะต่าง ๆ ให้มีความสวยงามและคงทน เทคนิคการทำภาชนะ เครื่องรัก ของแต่ละชุมชนมีวิธีการและรายละเอียดที่แตกต่างกันในประเทศไทยพบหลักฐานว่า การลงรักปิดทอง มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีสืบเนื่องมาถึงสมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ กระทั่งปัจจุบันงาน ช่างรัก ของไทยเป็นงานประณีตศิลป์ซึ่งสามารถทำได้หลายลักษณะ เช่น การเขียนลายรดน้ำ การประดับมุก การประดับกระจก และการลงรักเขียนลายกำมะลอ เป็นต้น งานประณีตศิลป์ไทยที่กล่าวมานั้นล้วนมีเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมที่มีคุณค่ายิ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยว่างานช่างรักของไทยจะสูญสิ้นไป จึงมีพระราชดำริและพระราชทานแนวทางในการจัดการ ทางด้าน อนุรักษ์ภูมิปัญญาสาขานี้ ทั้งในด้านศิลปหัตถกรรม ซึ่งช่างไทยควรใช้ยางรักและวิธีลงรักแบบโบราณในการตกแต่ง, ปลูกต้นรักและเจาะเก็บยางรักซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ให้พอเพียงกับการใช้งานภายในประเทศพัฒนาสายพันธุ์ต้นรักให้ได้ผลผลิตสูง มีปริมาณน้ำยางมาก คุณภาพดี เพื่อ ทำเป็นสินค้าส่งออก และ ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องรัก เพื่อการส่งออก จำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ชุมชนและประเทศชาติ โดยมีหน่วยงานที่รับสนองพระราชดำริได้แก่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาห กรรม ได้ร่วมกันจัดทำ โครงการศึกษายางรักใหญ่ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550-2553 ซึ่งอยู่ในแผนงานอนุรักษ์สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามและพัฒนาภูมิปัญญา ของกรมศิลปากร
กรมป่าไม้ โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมไม้รักใหญ่ โดยได้สำรวจแหล่งแม่ไม้รักใหญ่ ทั่วประเทศแล้ว พบว่าไม้รักในสกุลรักใหญ่ หรือรักหลวง มีด้วยกัน 11 ชนิด คือ รักเขมร รักเขา รัก (สตูล) รัก (เชียงใหม่) รักน้อย รักบ้าน รักขี้หมู รักใหญ่หรือรักหลวง รักน้ำ รักใบหนุ่ย และรักน้ำเกลี้ยง กรมป่าไม้ ได้ทดลองถิ่นกำเนิดไม้รักใหญ่ โดยคัดเลือกแม่ไม้และทำการเก็บเมล็ดจาก 6 ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2551 นำเมล็ดมาเตรียมกล้าไม้เพื่อปลูกในปี พ.ศ. 2552 ส่วนไม้รักเวียดนาม ได้นำเมล็ดจากประเทศเวียดนามมาเตรียมกล้าไม้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 แล้วนำกล้าไปปลูกพร้อมกันกับไม้รักใหญ่ ที่สถานีวนวัฒนวิจัยกำแพงเพชร และสถานีวนวัฒนวิจัยสุราษฎร์ธานี โดยดูแลกล้าไม้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนนำไปปลูกทดสอบตามแผนผังที่ออกแบบโดยใช้โปรแกรมคอม พิวเตอร์ เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ต่าง ๆ ในอนาคต โดยที่สถานีวนวัฒนวิจัยสุราษฎร์ธานี ปลูกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2552 ในเนื้อที่ 10 ไร่ ผลการทดลองในแปลงไม้รักใหญ่ พบว่าไม้ทดลองบางเบอร์ตายไปบางส่วนเนื่องจากกล้าไม้มีขนาดโตเกินไปและความแห้งแล้งรุนแรงมากในปีนี้ จำเป็นต้องปลูกซ่อมในฤดูฝน แต่ส่วนมากจะตั้งตัวได้ ด้านการเจริญเติบโตและการรอดตายยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากยังไม่ครบปี และในฤดูแล้งไม้รักใหญ่จะผลัดใบ บางครั้งพบว่าส่วนยอดของลำต้นและกิ่งจะแห้งตายไป แต่ส่วนที่ เป็นลำต้นใกล้พื้นดินและรากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถแตกหน่อได้ใหม่เมื่อถึง ฤดูฝน ด้านไม้รักเวียดนามมีการเจริญเติบโตต่างจากไม้รักใหญ่มาก กล้าอายุ 4 เดือนกำลังเหมาะสำหรับย้ายปลูกในแปลงทดลอง ไม้รักเวียดนามมีการเจริญเติบโตเร็ว สามารถตั้งตัวได้ภายในระยะ 2 เดือน เนื่องจากตามธรรมชาติไม้รักเวียดนามเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลางและเป็นไม้โตเร็ว ส่วนไม้รักใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และเป็นไม้โตช้า เมื่ออายุ 8 เดือน ไม้รักเวียดนามบางต้นออกดอกพร้อมกับไม้ยางพาราซึ่งเป็นพืชท้องถิ่น แต่ไม่มีการผลัดใบก่อนออกดอก อุปสรรคที่สำคัญในการปลูกไม้รัก คือพิษยางรัก ทั้งไม้รักใหญ่และรักเวียดนาม ทำให้การตัดแต่งรากก่อนนำไปปลูกทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้าไม้รักใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งได้ตายไป ส่วนไม้รักเวียดนามมีแมลงทำอันตรายมาก ทั้งประเภทเพลี้ยดูดน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน และหนอนที่เป็นระยะตัวอ่อนของด้วงปีกแข็ง กัดกินและดูดน้ำเลี้ยงจากเรือนรากใต้ดิน ทำให้การเจริญเติบโตลดลง สนใจติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่คุณทศพร วัชรางกูร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมไม้รักใหญ่ โทรศัพท์ 0-2561-4292-3 ต่อ 5408, 5409 กลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนา การป่าไม้ กรมป่าไม้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์