กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช นิยมปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ขณะที่ทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน นิยมปลูกพันธุ์อาราบิก้า จากการสำรวจเมื่อปี 2551 ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ 29,432 ครัวเรือน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 130 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต เฉลี่ย 39.06 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับกาแฟนำเข้า คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนิยมบริโภคกาแฟจากผลผลิตของคนไทย โดยในปี 2551 ไทยมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟ 14,822.34 ตัน มูลค่า 1,187.33 ล้านบาท และกาแฟสำเร็จรูป 2,888.84 ตัน มูลค่า 639.17 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาศักยภาพของกาแฟไทย ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการวางโครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจรขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพการผลิตกาแฟ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้ากาแฟโดยส่งเสริมให้มีการแปรรูปกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟของสถาบันเกษตรกร และส่งเสริมพัฒนาธุรกิจกาแฟของสถาบันเกษตรกร ซึ่งได้เลือกเป้าหมายไปที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตกาแฟ ที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมกันประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งประเทศ มีพื้นที่ให้ผลผลิต 310,562 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 40,385 ตัน
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เปิดเผยว่า โครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจร นั้นจะมีการเลือกกลุ่มเกษตรกรทำสวน เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และกลุ่มเกษตรกรทำสวน อ.กระบุรี จ.ระนอง มาดำเนินการ เนื่องจากทั้ง 3 สถาบันมีศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟ ซึ่งมีตลาดรองรับในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังขาดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อกาแฟมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป ดังนั้นจึงต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแบบปลอดดอกเบี้ยในการจัดซื้อสารกาแฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการแปรรูปกาแฟ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ากาแฟและเพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร รวมทั้งสามารถลดผลกระทบจากการเปิดตลาดภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนได้ในระดับหนึ่ง โครงการนี้ทำแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด ตอนนี้กาแฟในประเทศยังผลิตได้น้อยอยู่ เราต้องการเพิ่มกำลังการผลิตของสินค้าและเพิ่มคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น นายฉกรรจ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว นายฉกรรจ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลด ต้นทุนการผลิตกาแฟ ในสถาบันเกษตรกรทั้ง 3 สถาบัน จะแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตกาแฟดำเนินการโดยกรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ สถาบันละ 10 คน เพื่อถ่ายทอดวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการปฏิบัติตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม 2.กิจกรรมด้านการดำเนินธุรกิจและเพิ่มมูลค่ากาแฟของสถาบันเกษตรกร โดยสถาบันเกษตรกรกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อกาแฟสารเพื่อผลิตเป็นกาแฟคั่วบด และกาแฟ 3 ใน 1 รวมทั้งการจัดซื้อกาแฟจากสมาชิกที่เข้า ร่วมโครงการ 3.กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจกาแฟของสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจกาแฟแก่สถาบันเกษตรกร ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจกาแฟ จัดทำแผนกลยุทธ์ในการรักษาและขยายปริมาณธุรกิจในตลาดเดิมรวมถึง การศึกษา และพัฒนาเพื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ การดำเนินโครงการดังกล่าว คาดว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการ จะช่วยเพิ่มผลผลิตกาแฟจากเดิม 200 กก.ต่อไร่ เป็นไม่น้อยกว่า 250 กก.ต่อไร่ ของการปลูกกาแฟในแปลงเดี่ยว และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของการปลูกกาแฟร่วมกับพืชอื่น จากเดิม 143 กก. ต่อไร่ เป็น 180 กก.ต่อไร่ โดยต้นทุนการผลิตต้องไม่มากกว่าร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิตกาแฟของประเทศเวียดนาม และปริมาณธุรกิจของสถาบันเกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพแล้ว ก็ยังช่วยส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจกาแฟให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันในตลาดได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปิดตลาดภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนอีกด้วย นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์