บ้านดอกบัว หมู่บ้านจักสานเข่ง หมู่ที่ 4 ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศรับถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง จากการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ ๒ ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีชีวิตคนในชุมชนบ้านดอกบัว จะอยู่กับแบบเรียบง่าย เป็นระบบเครือญาติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทุกครัวเรือนรู้จักกันหมด อาชีพส่วนใหญ่ ทำนาปลูกข้าว ปลูกข้าวญี่ปุ่น เพื่อ ส่งจำหน่ายประเทศญี่ปุ่น ทำการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การสานเข่ง สานสุ่มไก่ การจักสานจากผักตบชวา การเลี้ยงสัตว์ และการปลูกหญ้า เป็นต้น
ทุกครอบครัวในชุมชนบ้านดอกบัวดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อที่ไม่ต่างจากคนล้านนาทั่วไป รักความสนุกสนาน ปัจจุบันคนในชุมชนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในหมู่บ้าน จากการที่ในชุมชนมีต้นไผ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ ได้ไม่ยากนัก ดังนั้นชุมชนจึงเห็นความสำคัญของต้นไผ่จึงได้มีการปลูกเพิ่มขึ้น โดยนอกฤดูการทำนาชุมชนได้รวมกลุ่มทำกิจกรรม โดยการนำวัสดุอุปกรณ์ที่มีในหมู่บ้านมาใช้ประโยชน์ นำเอาลำไผ่มาจักสาน ทำเป็นสุ่มไก่ เข่ง เพื่อ เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี นับเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านดอกบัวได้เป็นอย่างดีทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นชุมชนพึ่งตนเอง นอกจากนี้ทุกครัวเรือนมีวิธีการในการลดรายจ่ายให้แก่ครอบครัวโดยหันมาปลูกผักสวนครัว ผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อบริโภคเนื้อและไข่ เลี้ยงปลาไว้กินเมื่อเหลือจากการบริโภค มีการแบ่งปันให้เพื่อนบ้านและเมื่อแบ่งปันกันพอแล้วจึงนำไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาใช้สอยในเรื่องของเครื่องอุปโภคของครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามหลักและแนวทางปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง
ไม่เพียงแต่ความเข้มแข็งของชุมชนในเรื่องของการแบ่งปัน การหารายได้ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ชุมชนบ้านดอกบัวยังมีความโดดเด่นในเรื่องของ การเลี้ยงวัว และโคขุน โคพันธุ์พื้นเมือง ทั้งแบบครัวเรือนและรวมกลุ่ม ทำให้มีมูลวัวเป็นจำนวนมาก จึงได้นำมาผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อ ใช้ประโยชน์ด้านการหุงต้ม ภายในครัวเรือน ซึ่งสามารถ ลดรายจ่ายของครัวเรือนได้เดือนละไม่น้อยกว่า 300 บาท ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้จะใช้แก๊สชีวภาพจากมูลวัวแทบทุกครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ผลิตปุ๋ยชีวภาพเอง ไว้เป็นวัสดุบำรุงดินสำหรับใช้ในการเกษตรกรรมทุกครัวเรือน ปัจจุบันชุมชนบ้านดอกบัวได้ขยายกลุ่มที่ใหญ่มากขึ้น มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก มีการระดมเงินออม และขยายกลุ่มเพื่อการผลิตไปในชุมชนอื่น ๆ และมีเครือข่ายในหมู่บ้านและ ตำบลที่ใกล้เคียง จนสินค้าที่ผลิตเป็นที่ยอมรับและส่งขายไปในหลายพื้นที่และการันตีด้วยสินค้า โอทอป ของจังหวัดพะเยา ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดพะเยาและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปควบคู่กับการเลี้ยงโคของคนในชุมชน ได้มีการปลูกหญ้าแพงโกล่า สำหรับใช้เป็นอาหารของโค และจำหน่ายให้กับเกษตรกรชุมชนอื่น ๆ ในส่วนที่เหลือ ทำให้มีรายได้เข้าชุมชนเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อย
ผลิตภัณฑ์จักสานไม่เพียงแต่ใช้ต้นไผ่เท่านั้น ชุมชนยังได้นำผักตบชวามาจักสาน เป็นอาชีพเสริม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายบริเวณกว๊านพะเยา มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสวยงาม ที่สำคัญเป็นการช่วยกำจัดผักตบชวาปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดของกว๊านพะเยาได้อย่างดี อีกทั้งช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่สังคมส่วนรวม นอกจากนี้ชุมชนยังได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายเช่น การทำฝายแฝก การปลูกป่าชุมชน ตลอดทั้งการสร้าง แหล่งเรียนรู้จากภูมิปัญญาของชุมชน โดยการเลี้ยงด้วงปีกแข็ง (กว่าง) แมลงที่มีผลอย่างเป็นนัยสำคัญต่อระบบนิเวศของพื้นที่ ในรูปแบบเชิงอนุรักษ์ และการปลูกพืชกินแมลง เพื่อเป็น ตัวช่วยในการป้องกันแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี บ้านดอกบัว จึงนับว่าเป็นชุมชนต้นแบบที่ชุมชนอื่น ๆ ในประเทศควรศึกษาเพื่อนำความรู้ที่ได้จากชุมชนบ้านดอกบัวไปต่อยอดและขยายผลในพื้นที่ชุมชนอื่นต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์