ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้ากุ้งของประเทศไทย ไม่อนุญาตให้ใช้สารในกลุ่มสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้งทะเลว่า เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีความวิตกกังวลต่อสารตกค้าง และผลข้างเคียงต่อผู้บริโภค เมื่อได้รับสารเคมีในกลุ่มดังกล่าว โดยระบุว่า สารเคมีในกลุ่มดังกล่าว เป็นสารเคมี ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของ เชื้อแบคทีเรีย ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในสัตว์น้ำ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มเกษตรกร เนื่องจาก มีราคาค่อนข้าง ต่ำ แต่ให้ผลที่มีประสิทธิภาพสูง ถึงแม้ว่าสารเคมี ในกลุ่มดังกล่าว จะได้รับการขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้ใช้ใน การเลี้ยงสัตว์น้ำ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวง สาธารณสุขของไทย โดยต้องอยู่ในความควบคุมตามฉลากยา คือห้ามนำไปใช้ผิดประเภท แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้กำหนดมาตรการในการห้ามนำเข้าสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ในภาพรวม ดังนั้นกรมประมงจึงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสัตว์น้ำ โดยเพิ่มหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ที่มีการผลิตสัตว์น้ำส่งออกสูง จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประมงอ่าวคุ้งกระเบนฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรและผู้เลี้ยงกุ้งในการงดเว้นการใช้สารเคมี ในกลุ่มดังกล่าว โดยในเบื้องต้นกรมประมงจะแจ้งเตือนเกษตรกรก่อน หากสุ่มตัวอย่างตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีดังกล่าว และได้รับผลยืนยันการพบสารตกค้างจากห้องปฏิบัติการ กรมประมงอาจจะต้องดำเนินการเพิกถอนใบรับรองการปฏิบัติทางการเพาะ เลี้ยงสัตว์น้ำ (จีเอพี) ต่อไป ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวสามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง 6 แห่ง ข้างต้น หรือที่สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง โทรศัพท์ 0-2579- 3683 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์