หลายคนคิดว่ากระรอกเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความน่ารักและสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้แต่หารู้ไม่ว่ากระรอกเมื่อนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามจะต้องเอาใจใส่มากกว่าสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น จะต้องป้อนนมและเช็ดตัว เอาใจใส่ดูแลมากกว่ากระต่ายและแฮมสเตอร์ อย่าตัดสินใจเลี้ยงกระรอกตามแฟชั่นหรือเลี้ยงตามเพื่อน เนื่องจากกระรอกจัดเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวอย่างน้อย 8 ปี บางตัวอาจจะมีชีวิตอยู่ถึง 15-20 ปีก็มี กระรอก ที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ตั้งแต่เล็ก ถ้าเลี้ยงแล้วเบื่อ ไม่ควรนำไปปล่อยในป่าเพราะไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ตามธรรมชาติได้ คุณธัญญา แสงแห่งธรรม คนนครปฐมได้ให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่จะนำกระรอกมาเลี้ยง ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ หลายคนบอก ว่าคนที่เลี้ยงกระรอกตั้งแต่เริ่มลืมตาดูโลกจะไม่เชื่องซึ่งไม่เป็นความจริง กระรอกจะเชื่องกับคนที่ให้อาหารและคนที่ถือหลอดป้อนนมกระรอกจะจำกลิ่นผู้เลี้ยงได้และจะเชื่องเฉพาะคนที่เลี้ยงเท่านั้น เมื่อกระรอกโตขึ้น มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป จะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าแม้จะอยู่บ้านเดียวกันก็ตาม ก่อนที่จะเลี้ยงกระรอกจะต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่ากระรอกไม่ชอบอยู่ในกรง ชอบปีนไต่
ในเรื่องของอาหารที่จะใช้เลี้ยงกระรอกนั้น คุณธัญญาบอกว่ากระรอกหลังจากเริ่มลืมตาประมาณ 1 อาทิตย์ ฟันล่างจะเริ่มขึ้น จะเริ่มเข้าหาคนสามารถร้องเรียกได้เมื่อหิวและเริ่มแทะอาหารนิ่ม ๆ ได้ นมเป็นอาหารหลักที่จะต้องให้จนกระรอกอายุครบอย่างน้อย 2 เดือน นมที่ใช้เลี้ยงกระรอกควรเป็นนมแพะ เมื่อกระรอกมีอายุได้ประมาณ 40 วัน ผู้เลี้ยงจะต้องเริ่มบังคับให้กินกล้วยก่อนกินนม กระรอกจะซนเมื่อมีอายุได้ประมาณ 2 เดือน จะเริ่มแทะได้เราควรเริ่มให้เมล็ดทานตะวัน (การแทะเป็นการ ลับฟัน) หลังจากนั้นอาจจะให้แทะผลไม้ที่แข็งขึ้นมาอีกนิด เช่น ฝรั่ง (ห้ามให้แตงกวา, แตงโมและพืชตระกูลแตงอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้กระรอกท้องเสียได้) อาจจะเสริมด้วยอาหารกระต่าย เช่น เมล็ดข้าวโพดก็ได้ เมื่อกระรอกมีอายุครบ 3 เดือน จะเริ่มผลัดขน บางตัวจะค่อย ๆ ผลัดแต่บางตัวจะผลัดเยอะมาก ผู้เลี้ยงไม่ต้องตกใจขนจะขึ้นเต็มที่เมื่ออายุครบ 6 เดือน
จะดูกระรอกสวยหรือไม่สวยจะดูได้ในช่วงนี้ ความสวยของกระรอกจะอยู่ที่ส่วนของหาง หางจะฟูหรือไม่ขึ้นอยู่กับอาหารด้วย ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์กระรอก โดยฝีมือของ มนุษย์แต่ที่ผ่านมาพบว่ากระรอกจัดเป็นสัตว์ให้ลูกน้อยมาก ใน 1 ปี จะออกลูกเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ต้องล่ามโซ่และไม่พบอาการซึมเมื่อนำกลับไปเลี้ยง ข้อควรระวัง 4 ประการ สำหรับผู้ที่เลี้ยงกระรอกคือ ระวังสารเคมีตกค้างในผลไม้และสารพิษจากเมล็ดถั่วแห้ง, ไม่ควรเปลี่ยนนมกะทันหัน, กระรอกควรได้รับอาหารที่หลากหลาย และที่สำคัญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอาหารทุกครั้งให้สังเกตว่ากระรอกมีอาการผิดปกติหรือไม่.
ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์