เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา และอาจส่งผลกระทบต่อไปยังฤดูกาลผลิตหน้าอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ออกมาระบุถึงปัญหาภัยแล้งที่สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคการเกษตรว่า มีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 44 จังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายอย่าง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 13,986 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ส่วนพืชเกษตรที่ไม่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 1.9 ล้านตัน ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปศุสัตว์และประมง โดยเฉพาะในส่วนของข้าวนาปรังที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนั้น ได้ส่งผลให้ผลผลิตลดลงจาก 650 กก.ต่อไร่ เหลือ 592 กก.ต่อไร่ ผลผลิตโดยรวมลดลงจาก 10.52 ล้านตัน เหลือ 9.58 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 7,330 ล้านบาท สับปะรดโรงงาน ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 3,500 กก.เหลือ 3,436 กก. ผลผลิตรวมลดลง จาก 2 ล้านตัน เหลือ 1.96 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 148 ล้านบาท ส่วนปาล์มน้ำมัน ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 2,700 กก.เหลือ 2,537 กก. ผลผลิตรวมลดลงจาก 9.82 ล้านตัน เหลือ 9.23 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,074 ล้านบาท ส่วนไม้ผลมีผลผลิตโดยรวมลดลง โดยเฉพาะลำไย ผลผลิตต่อไร่ลดลงจากไร่ละ 750 กก.เหลือ 595 กก.คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,010 ล้านบาท ส่วนทุเรียนผลผลิตต่อไร่ก็ลดลงจาก 1,100 กก.เหลือ 986 กก.คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,035 ล้านบาท และในส่วนอื่น ๆ มีมูลค่าความเสียหาย 1,388 ล้านบาท
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้าวนาปีแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่เกษตรกรได้เลื่อนระยะเวลาการปลูกจึงไม่ได้รับความเสียหายมากนัก ยังคงมีพื้นที่ปลูก 57.216 ล้านไร่ ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 403 กก. ผลผลิตรวม 23.043 ล้านตัน ขณะที่มันสำปะหลังพื้นที่ปลูกไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเนื่องจาก ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตแล้วประกอบกับเป็นพืชทนแล้ง แต่ผลผลิตที่ได้รับความเสียหายเกิดจากการระบาดของเพลี้ยแป้งระบาดมากขึ้น โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 7.003 ล้านไร่ ผลผลิตต่อไร่ 2,854 กก.ผลผลิตรวม 19.988 ล้านตัน ส่วนอ้อยโรงงานบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกแต่เกษตรกรทำการปลูกทดแทนเมื่อมีฝน ทำให้พื้นที่ปลูกไม่เปลี่ยน ยังคงมีพื้นที่ปลูก 6.834 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 73.66 ล้านตัน ขณะที่สินค้าปศุสัตว์ในภาพรวมนั้นปัญหาภัยแล้งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตมากนัก เนื่องจากสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ใช้ในระบบการเลี้ยงในโรงเรือนแบบปิดและมีระบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบสามารถบริหาร หรือควบคุมปริมาณการผลิตได้ แต่ภาคปศุสัตว์อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาภัยแล้งที่อาจทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน ราคาอาหารสัตว์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตมากกว่า ส่วนสินค้าประมงพบว่าจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติทำให้กุ้งเพาะเลี้ยงโตช้า ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะเลี้ยงลดลงเล็กน้อยในภาคตะวันออก ผลกระทบในภาคการเกษตรจากภัยแล้ง ที่กล่าวมาข้างต้น สศก.จึงคาดการณ์ว่าการขยายตัวของภาคเกษตรจะชะลอตัวเป็นร้อยละ 2.7 จากสถานการณ์ปกติที่คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 และมีผลให้รายได้ต่อครัวเรือนประชากรเกษตร ลดลง 2,450 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากที่เคยประมาณไว้ที่ 130,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ลดลงเหลือเพียง 127,550 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มผู้ปลูกข้าวนาปรังและไม้ยืนต้น นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ที่ต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิต เกษตรกรควรติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์