ไปดูงานกับกรมส่งเสริมการเกษตรที่กระบี่เรื่องเกี่ยวกับ การส่งเสริมการผลิตปาล์มน้ำมันครบวงจรและวิสาหกิจชุมชน จ.กระบี่ มีหลายเรื่องที่จะนำมาเสนอด้วยเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น เรื่องแรกที่นำมาวันนี้เป็นเรื่องของ การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มทั้งการเพาะเห็ดในโรงเรือนและเห็ดฟางกองเตี้ย ในสวนปาล์มของสมาชิก วิสาหกิจชุมชนรวมใจชาว กชน. (เห็ดฟางทะลายปาล์ม) บ้านควนเศียร หมู่ 5 ต.เขาเขน อ.ปลายพระยา ประธานกลุ่มคือ นางสุนีย์ เทพานุรักษ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวต้องเล่า 2 ครั้งถึงจะจบบริบูรณ์ ฉะนั้น กรุณาติดตามตอนจบวันพุธหน้า..สำหรับวันนี้ ประธานกลุ่มฯเล่าถึงขั้นตอนและวิธีการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้... 1. วัสดุเพาะและอาหารเสริม วัสดุเพาะ คือ ทะลายปาล์มน้ำมัน อาหารเสริมจะใช้มูลสัตว์ตากแห้งหรือย่อยสลายจนเจือจางแล้ว มูลสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ มูลวัว มูลควาย หมู ไก่หรืออาหารเสริมอื่น ๆ เช่น คายข้าวหรือละอองข้าว 2. การเตรียมวัสดุเพาะ ทะลายปาล์มใหม่สดหรือค่อนข้างใหม่ นำมากองแล้วรดด้วยน้ำปูนขาว (โดยใช้ปูนขาว ซึ่งเป็นหินปูนหรือปูนก่อสร้าง 1 กิโลกรัม ใส่น้ำ 20 ลิตร) ให้ชุ่มแล้วกองสุมไว้ให้เกิดความร้อนประมาณ 5-7 วัน โดยกลับกองทะลายปาล์ม 3 วันต่อครั้ง แล้วจึงนำไปใช้ 3. สถานที่เพาะและการเตรียมดิน สถานที่เพาะควรเป็นพื้นที่ราบ น้ำไม่ท่วมขัง ควรเป็นดินที่ปลูกพืชได้ ไม่มีเชื้อโรค หรือสารเคมีปนในดิน ทำการเตรียมดินโดยกลับผิวหน้าของดินและสับย่อยดินยกเป็นแปลงยาวโรยปูนขาวบาง ๆ ลงบนผิวหน้าดินนั้น 4. เชื้อเห็ดฟาง เชื้อเห็ดฟางที่ใช้ควรเลือกเชื้อเห็ดที่ไม่มีแมลงหรือเชื้อจุลินทรีย์ อื่น ๆ เช่น ราสีดำ ราเขียวเหลือง ราขาว และอื่น ๆ ปะปน จะเห็นเฉพาะเส้นใยสีขาวซึ่งมีลักษณะเส้นใยยาวหนาแน่นดินต่อเนื่องในอาหารผสมจากปากถุงถึงก้นถุง หรือก้นกระป๋องจนเป็นก้อน เชื้อที่เกาะกันเป็นก้อน ไม่หลุดร่วงแยกจากกัน เส้นใยเริ่มจับกันเป็นตุ่มดอกเล็ก ๆ มีกลิ่นหอมของเห็ด ไม่มีกลิ่นบูด 5. เวลาเพาะและการวางแนวกอง ควรเพาะตอนช่วงเช้าเพื่อจะได้สะสมความร้อนจากแสงอาทิตย์เก็บไว้ในแปลงเพาะจะได้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดฟาง ที่ต้องการอุณหภูมิสูงในระยะแรก 1-5 วัน การวางแนวกองควรให้หัวท้ายของกองอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เพื่อรับแสงอาทิตย์ได้ทั่วถึงตลอดทั้งแปลง 6. วิธีการเพาะ รดน้ำบนแปลงเพาะที่ได้เตรียมดินไว้แล้วจึงนำทะลายปาล์มที่ผ่านการหมักเรียงบนแปลงเพาะพร้อมกับหว่านเชื้อเห็ดลงบนแต่ละทะลายปาล์มที่ทับซ้อนกัน โดยให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมที่มีความยาว x กว้าง และสูงประมาณ 100x 30x30-45 เซนติเมตร แล้วเลื่อนการกองทะลายปาล์มกองใหม่ห่างจากกองแรกประมาณ 1-2 คืบ ทำกองตามขั้นตอนเดิมทุก ๆ กอง โดยแต่ละกองวางขนานกันมีจำนวนกองประมาณ 10-20 กอง จากนั้นโรยอาหารเสริมรอบ ๆ กองเพาะและระหว่างกองทุกกอง เสร็จแล้วจึงโรยเชื้อเห็ดฟางทับบาง ๆ รดน้ำจนชุ่มทั่วทั้งแปลง ปิดแปลงทะลายปาล์มด้วยผ้าพลาสติก โดยใช้ 2 ผืนเกยทับกันตรงกลางตามความยาว แล้วคลุมทับด้วยฟางข้าวหนาประมาณ 4-5 เซนติเมตร หรือวัสดุอื่น ๆ เช่น ตับจากหรือทางมะพร้าว เพื่อรักษาอุณหภูมิในแปลงมิให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมากเกินไป การเพาะในฤดูร้อน อาจลดจำนวนกองลงเหลือประมาณ 7 กองต่อแปลง ระยะห่างระหว่างกองห่างมากขึ้น และควรยกโครงไม้ไผ่ครึ่งวงกลมปักระหว่างกอง ห่างหลังกองประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วจึงคลุมด้วยผ้าพลาสติก และปิดทับด้วยฟางข้าวหรือวัสดุอื่น
สุนีย์ เล่าว่า การเพาะในฤดูหนาว ต้องมีจำนวนกองมากขึ้นประมาณ 15-30 กองต่อแปลง ขนาดของกองเพิ่มใหญ่ขึ้น ระยะห่างระหว่างกองให้ชิดกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความร้อนในกองเพาะให้สูงขึ้น ส่วนการเพาะในฤดูฝน ต้องเตรียมพื้นที่อย่าให้มีน้ำขังในแปลง ขุดร่อง ทำทางระบายน้ำ และหมั่นระบายความชื้นในแปลงให้มากขึ้น (หมายเหตุ:จะใส่เชื้อเห็ดฟางลงเฉพาะบนพื้นดินรอบ ๆ และระหว่างกองทุกแปลงก็ได้ โดยไม่ต้องใส่เชื้อเห็ดลงบนทะลายปาล์ม ผู้เพาะสามารถใส่เปรียบเทียบกันว่าคุ้มการลงทุนหรือไม่). ติดตามตอนต่อไปวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553.
จีร์ ศรชัย
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์