นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 8 จังหวัดภาคใต้เปิดเผยว่า ในขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในภาคใต้เริ่มหันกลับมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำแทนกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงกันมาก และราคาก็ไม่ค่อยดีขึ้น เมื่อตลาดกุ้งขาวราคายังคงไม่ดี เกษตรกรผู้เลี้ยงเลยปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ หันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างเดียว โดยทยอยเปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำประมาณ 20-30 บ่อ เนื่องจากมีอุปกรณ์พร้อม ราคากุ้งกุลาดำก็เริ่มดีขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหันกลับมาเลี้ยงกุลาดำใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันหากเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ขนาด 30-40 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 180-200 บาท การดูแลจัดการก็ไม่ต่างกับการเลี้ยงกุ้งขาว หากลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำประมาณ 10 บ่อ ขายได้บ่อละ 3 ตัน กิโลกรัมละ 200 บาท เฉลี่ยประมาณ 600,000 บาทต่อบ่อ ถ้า 10 บ่อ จะได้ 6,000,000 บาท ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องตัดสินใจกลับมาเสี่ยงลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำใหม่อีกครั้ง การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในปัจจุบันถ้าอยากได้ผลดีและมีกำไร ผู้เลี้ยงกุ้งต้องเลี้ยงแบบไม่หนาแน่นจนเกินไป สามารถที่จะยืดระยะเวลาการเลี้ยงไปได้ 4-5 เดือน อัตราการรอดก็มีสูงและสามารถที่จะกำหนดเลือกไซซ์ให้กุ้งมีขนาดโต ขายได้ราคา เชื่อว่าคงไม่ยากเกินความสามารถของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทย ที่ผ่านมาการส่งออก กุ้งกุลาดำหรือกุ้งขาว มักประสบปัญหาถูก กีดกันทางการค้า การส่งออกจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น เรื่องกุ้งไทยไม่ค่อยมีคุณภาพหรือมีสารตกค้างบ้าง ปัจจุบันอียูเริ่มหันมามีกระแสตอบรับ ขยายเปิดช่องการส่งออกกุ้งไทยมากขึ้นจึงคาดว่า หากกุ้งไทยสามารถรักษามาตรฐานไว้ให้อยู่ในระดับปัจจุบัน หรือพัฒนาคุณภาพ ให้ดียิ่งขึ้นไป อนาคตกุ้งกุลาดำไทยมีโอกาสไปได้สวยแน่นอน.
ที่มา : เดิลินิวส์ ออนไลน์