จากการติดตามประเมินผล โครงการนิคมการเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดตาก ของปีที่ผ่านมา โดยศูนย์ประเมินผลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งพบว่า เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 ได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งนิคมการเกษตร ซึ่งได้รับการบริการตรวจวิเคราะห์ดินพร้อมทั้งรับคำแนะนำในการปรับปรุงบำรุงดิน การส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี แทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว มีการส่งเสริมให้ใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งได้ศึกษาดูงานในแปลงต้นแบบ โดยเกษตรกรได้มีการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 500-1,000 บาทต่อไร่ ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ และมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ดำเนินการจัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพลังงานขึ้นเพื่อรองรับนโยบายการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรของรัฐบาล โดยคัดเลือกพื้นที่ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด ของจังหวัดตากเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งในการจัดตั้งโครงการฯ ขึ้นมา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ด้วยการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่และสินค้าอย่างครบวงจร และสร้างฐานการผลิตรองรับเกษตรกรรุ่นใหม่รวมถึงผู้ที่สนใจอาชีพเกษตรกรรมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยส่งเสริมวิธีคิดและบริหารจัดการแบบผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในส่วนของการผลิตเพื่อบริโภค ตลอดจนเพิ่มผลผลิตเพื่อการจำหน่ายและการลดต้นทุนการผลิตเพื่อการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นนับเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ซึ่งการส่งออกในรูปเนื้อสัตว์จะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการส่งออกในรูปข้าวโพดเมล็ดและความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากที่มีการขยายการเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เป็นผลให้การส่งออกลดลงตามลำดับ ปัจจุบันการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และมีปริมาณไม่แน่นอนเนื่องจากการผลิตขึ้นกับดินฟ้าอากาศ ทำให้มีความเสี่ยงต่อความเสียหายจากความแห้งแล้งมาก และพื้นที่ปลูกต้องแข่งขันกับพืชเศรษฐกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะ 4-5 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยจำเป็น ต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการการใช้ภายในประเทศทั้ง ๆ ที่ในอดีตไทยเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่รายหนึ่งของโลกและไทยมีศักยภาพด้านการผลิตการตลาดที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ดังนั้นการเกิดโครงการนี้ก็น่าจะพิจารณาได้ว่านี่คืออีกหนึ่งโอกาสของเกษตรกรไทย.
ที่มา : เดิลินิวส์ ออนไลน์