ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ผู้ที่มีบุญคุณต่อคนไทยทุกคนที่ปลูกข้าวให้เราได้มีกินอย่างไม่อดอยาก แต่ทุกวันนี้ยังเห็นชาวนาออกมาประท้วงขอความเป็นธรรมอยู่ตลอด เพราะทำนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ไม่เคยลืมตาอ้าปากมีชีวิตที่สุขสบายอย่างอาชีพอื่นเขาเลย มิหนำซ้ำยังต้องเป็นหนี้สินชักหน้าไม่ถึงหลัง จนทำให้ลูกหลานชาวนาไม่มีคนไหนอยากจะสืบทอดอาชีพต่อจากบรรพบุรุษ เพราะมองไม่เห็นอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับชาวนาทุกคน ซึ่งขณะนี้ความพยายามดังกล่าวเริ่มจะเป็นผลชัดเจน เมื่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเรียบร้อยแล้ว นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมี 7 หมวดที่สำคัญ ได้แก่ หมวด 1 ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งกองทุนและลักษณะของกิจการกองทุน หมวด 2 เรื่องการควบคุมและการบริหารจัดการของกองทุน หมวด 3 สำนักงานกองทุนสวัสดิการชาวนา หมวด 4 สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิก หมวด 5 การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ หมวด 6 การควบคุมกำกับการจัดการทุน หมวด 7 บทกำหนดโทษ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการดังกล่าวมีทั้งสิ้น 57 มาตรา โดยขอยกตัวอย่างมาตราที่สำคัญ คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ ชาวนา มีชื่อย่อว่า คณะกรรมการ กสช. ทำหน้าที่ควบคุมและบริหารกิจการของกองทุน ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าว และกฎหมายด้านละ 1 คน และด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน หรือการธนาคาร อีกด้านละ 1 คน และที่สำคัญจะต้องมีผู้แทนชาวนาจำนวน 6 คน
สำหรับกรอบแนวคิดที่สำคัญของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา นั้นมีอยู่ 5 แนวทางหลักด้วยกัน คือ 1.เป็นสวัสดิการเพื่อประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ประกอบอาชีพทำนาโดยเฉพาะและมีรายได้แน่นอน 2.มีการเก็บเงินเข้ากองทุนโดยคำนวณจากฐานรายได้ของการจำหน่ายข้าวเปลือกในแต่ละปี 3.จัดให้มีสวัสดิการด้านอื่น ๆ เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิตและอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบอาชีพทำนา 4.รัฐบาลสามารถพิจารณาเงินที่จะมาสมทบจากฐานภาษีรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งจะทำให้กองทุนมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น 5. เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาเห็นว่าอาชีพทำนามี เกียรติศักดิ์ศรีและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรักและยึดถือการประกอบอาชีพทำนาต่อไป กองทุนสวัสดิการชาวนาเปิดโอกาสให้เกษตรกรสมัครเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ โดยมีข้อจำกัดขั้นสูงของพื้นที่นาเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะชาวนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในกำหนดรูปแบบการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากกองทุน เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต เงินสงเคราะห์บุตร รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตโดยไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหาให้อยู่แล้ว เช่น ค่ารักษาพยาบาล พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาวิธีบริหารจัดการกองทุนสำหรับสมาชิกบางรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น โดยจะศึกษาข้อมูลการจัด ตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับเกษตรกรแยกออก จากสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปมาประกอบด้วย การที่รัฐบาลเห็นควรให้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนาขึ้นมานั้น เพื่อต้องการให้เป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีชาวนามากถึง 3.7 ล้านครัวเรือน หรือ 15-17 ล้านคน หรือคิดเป็น 64% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด โดยในแต่ละปีสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตมากถึง 30 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 180,000-200,000 ล้านบาท และมีการบริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 230,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ข้าวนับเป็นวิถีชีวิตของคนไทย และชาวนาเป็นอาชีพยากลำบาก ตากแดดตากฝน ฐานะยากจน ที่สำคัญชาวนามีอายุมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธการสืบทอดอาชีพ หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้อนาคตประเทศไทยอาจไม่มีผู้ทำหน้าที่เพาะปลูกข้าว จะก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และสูญเสียความเป็นผู้นำด้านข้าวของโลกในที่สุด.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์