กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตรมาโดยตลอด และสามารถสรุปทิศทางภาคเกษตรไทยว่าถึงแม้ในปีนี้จะมีผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และแมลงศัตรูพืชระบาดทำลายผลผลิตทางการเกษตรเสียหายอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถฉุดรั้งราคาให้สินค้าเกษตรตกต่ำไปได้ เพราะในความโชคร้ายก็มีความโชคดีปนอยู่ด้วยเสมอ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีการปรับตัวสูงขึ้นนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ทำให้เศรษฐกิจของไทยดีตามไปด้วย ประชาชนมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้ามีมากขึ้นนั่นเอง 2. ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมและแมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร เสียหายไปมาก ผลผลิตในภาพรวมจึงลดปริมาณลง ในขณะที่ความต้องการมีเท่าเดิมหรือมากขึ้น และ 3.ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความต้องการนำพืชอาหาร จำพวก อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ไปใช้เป็นพืชพลังงานมากขึ้น หรับสินค้าเกษตรที่มีทิศทางสดใสในช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้น ยางพารา ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นปีทองของเกษตรกรชาวสวนยางก็ว่าได้ เนื่องจากราคาจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท และถึงแม้จะมีบางช่วงที่ราคาปรับลดลงบ้างแต่ก็อยู่ในช่วงแคบ ๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่เกษตรกรเคยได้ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม แล้ว ถือว่าเป็นราคาที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว มันสำปะหลัง ก็เป็นตัวหนึ่งที่ราคาปรับขึ้น จากปีที่แล้วที่ราคาประกันอยู่ที่ 1.70 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้ราคาขยับไปอยู่ที่ 3-4 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ซึ่งก็เป็นผลมาจากเพลี้ยแป้งระบาดทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังหายไปจากระบบถึง 1 ใน 3 หรือจากเดิมที่มีผลผลิตอยู่ที่ 30 ล้านตัน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 20 ล้านตันแล้ว สำหรับมันสำปะหลังนับว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายก็ว่าได้ เพราะช่วงที่เกิดเพลี้ยแป้งระบาด เกษตรกรต้องสูญเสียเงินทุนและผลผลิตไปจำนวนมาก แต่ขณะนี้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้สินค้าจะราคาดี และมีความต้องการ ซื้อทั้งจากต่างประเทศก็มีออร์เดอร์เข้ามามาก แต่เรากลับไม่มีสินค้าจะขาย ทำให้เสีย โอกาสไปเหมือนกัน นายอภิชาต กล่าว ส่วนเรื่องของ ข้าว นั้น แม้ว่าสต๊อกข้าวโลกจะยังขาดแคลนและมีความ ต้องการสินค้า แต่กลับไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ทำให้ ผู้ส่งออกหรือโรงสีข้าวไม่สามารถรับซื้อข้าวจาก เกษตรกรในราคาที่สูง อีกทั้งสต๊อกข้าวของรัฐบาลมีจำนวนมาก ดังนั้น รัฐจึงต้องเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อกให้ได้มากที่สุดก่อนจะถึงช่วงปลายปีที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่จะออกมาอีก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและจีน ประสบปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่มีสินค้าจะส่งออกด้วยแล้ว เรายิ่งต้องเร่งหาวิธีส่งออกสินค้าให้ได้ ที่สำคัญขณะนี้ประเทศรัสเซีย ผลผลิตเกี่ยวกับธัญพืชของเขาเกิดความเสียหาย และมีคำสั่งงดส่งออกสินค้าประเภทนี้ทั้งหมด ก็นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยจะสามารถเพิ่มกำลังการส่งออกข้าวได้เช่นเดียวกัน ..แม้ว่าทิศทางราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ขอให้เกษตรกรระมัดระวังและ เตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติ ที่สถานการณ์ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง รวมถึงโรคและแมลงศัตรูพืชมีความรุนแรงมากขึ้น อาจสร้างความเสียหายทั้งผลผลิตและทรัพย์สินของเกษตรกรได้ ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่าง ใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ถ้าช่วงนี้ท่านสามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาดีขึ้นก็ควรเก็บออม ไว้บ้าง เพราะราคาสินค้าเกษตรมันมี ความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ก็ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัว ท่านเอง.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์