"น้ำ"คือปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ของภาคเกษตร แต่ทุก ๆ ปี ภาคเกษตรไทยมักจะประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือแม้ กระทั่งปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งในสาขาทรัพยากรน้ำและเกษตรนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร โดยเร่งรัดจัดหาแหล่งน้ำให้ ทั่วถึงและเพียงพอ
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อบูรณาการหน่วยงานใน สังกัดระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดแนวทางพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรโดย ตรงเน้นคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ รวมทั้งใช้ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต เพิ่มมูลค่าการตลาด และการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยมีคณะอนุกรรมการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาด้านการเกษตรระดับจังหวัด เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ
การดำเนินงานประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การคัดเลือกสำรวจข้อมูลพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสม ทั้งเชิงโครงสร้างและรายสินค้า อย่างน้อยจังหวัดละ 1 พื้นที่ โดยมีการสำรวจครัวเรือนเกษตรกร และ จัดเก็บข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย แล้วจัดทำเวทีประชาคมขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการ มีส่วนร่วมในชุมชนและสรุปแนวทางการดำเนินงานร่วมกันให้สอดคล้องกับความ ต้องการของชุมชน อันจะเป็นผลดีต่อการนำไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้มีการสื่อสารการปฏิบัติงานตามแผนงานบูรณาการในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้ง มีการติดตามและประเมินผลอย่าง ต่อเนื่องอีกด้วย ทั้งนี้ในปี 2553 กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการ ในพื้นที่นำร่อง เขต 3 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก สมุทรปราการ และ เขต 9 ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด เพื่อศึกษาทิศทางและผลการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต่อไป
นายปรีชา ธรรมสุนทร ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ หมู่ 2 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เล่าว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดระยองจะประสบปัญหาเกี่ยวกับน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะชาวสวน ผลไม้ที่จะประสบปัญหาภัยแล้งใน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพอดี เมื่อน้ำน้อยทำให้ผลผลิตลดลง และได้รับความเสียหาย เช่น เงาะ ถ้าได้น้ำไม่เพียงพอนอกจากผลจะแคระแกร็นแล้ว ผลเงาะจะแตกไม่สามารถขายได้ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรจะอาศัยน้ำจากลำคลองขนาดเล็ก ๆ ที่ไหลจากภูเขาและแหล่งน้ำตามสวน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่เมื่อกระทรวงเกษตรฯ ได้นำโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร มาลงในพื้นที่ ก็เชื่อมั่นว่าเกษตรกรในพื้นที่จะมีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรอย่างเพียงพอ สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น อีกทั้งจะสามารถเพาะปลูกพืชผลได้หลากหลายชนิดมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้อีกทางหนึ่ง เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังแล้ว สิ่งที่เกษตรกร ฝากมายังผู้เกี่ยวข้องอีกอย่างคือ การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้มากขึ้น เป็นการช่วยให้เขามีรายได้ สามารถช่วยเหลือตนเอง และอยู่ในอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์