เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า ภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ดังเหตุการณ์ภัยพิบัติที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่พบเจอกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงมากนัก แต่ความแปรปรวนของสภาพอากาศก็ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ต้องอาศัยฟ้าฝนเป็นปัจจัยสำคัญ
นายอภิชาต จงสกุล โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรว่า ขณะนี้เชื่อว่าเกษตรกรทุกคนคงจะเห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะสิ่งที่เห็นเด่นชัดเลยคือภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมและโรคแมลงศัตรูพืช ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ดังนั้น เกษตรกรควรจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯ เอง ก็ต้องกลับมาทบทวนเรื่องการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดทำแผนบรรเทาภาวะโลกร้อนทางการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2550 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนตามแผนงาน ที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดให้เกิดการปฏิบัติตามแผนให้มากขึ้น เนื่องจากไม่ว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งหรือโรคแมลงศัตรูพืชระบาด ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง นอกจากนี้ยังมีการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้ อุณหภูมิผิวน้ำทะลต่ำกว่าปกติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ ส่วนพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกมากกว่าปกติไปจนถึงปลายปี จึงอยากให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นขณะนี้มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 903,183 ไร่ มีทั้งพื้นที่ที่เสียหายโดยสิ้นเชิง เสียหายบางส่วนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ได้รับความเสียหาย คิดเป็นผลผลิตที่ได้รับความเสียหาย 58,586 ตัน แบ่งเป็นข้าวนาปี 34,542 ตัน พืชไร่ 16,016 ตัน และพืชสวน 8,028 ตัน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 533 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าภัยธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถเตรียมการรับมือได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก หรือแล้งซ้ำซากที่มีการประกาศเตือนไว้แล้วนั้น ควรจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพอากาศมากขึ้น เช่น อาจจะเลื่อนการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นหรือเลื่อนออกไปจากช่วงเวลาที่เสี่ยง และควรติดตามการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดความ เสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ในเรื่องของข้อมูลเตือนภัยนั้นทางกระทรวงเกษตรฯ ตระหนักดีว่าเป็นสิ่งสำคัญจึงต้องมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง แม่นยำและน่าเชื่อถือมากที่สุด
จากผลการวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1-2 องศา จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ได้ถึง 20% นี่ยังไม่รวมถึงความเสียหายจากเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้งและโรคแมลงศัตรูพืชระบาด ถ้าปล่อยให้ภาคเกษตรได้รับผลกระทบเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งดำเนินการต่อจากนี้คือ การพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น พันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลง หรือพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย
การแก้ปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนไม่ใช่หน้าที่ของภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตอื่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ผลกระทบหลักกลับตกไปอยู่ที่ภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของเราเอง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินแก้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์