ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการผันน้ำเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่รอยต่อจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำที่มีศักยภาพที่ดี และ มีความเหมาะสม มาเติมให้อ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพน้อย กรมชลประทานจึงได้ดำเนิน โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยก่อสร้างท่อผันน้ำเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ระหว่าง อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม- อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม-อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด- อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (หุบกะพง) และ อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (ศูนย์ฯห้วยทราย) ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถกระจายน้ำเข้าสู่ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและการอุปโภค บริโภคของเกษตรกรได้เป็นวงกว้างและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และจากความสำเร็จของโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในครั้งนี้ ทางกรมชลประทานจึงได้ขยายผลนำไปใช้ในโครงการอื่น ๆ เช่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกมี โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ ในจังหวัด ระยอง-ชลบุรี โดยได้ก่อสร้างระบบผันน้ำเชื่อมโยงระหว่าง อ่างเก็บน้ำดอกกราย-หนองปลาไหล-คลองใหญ่-ประแสร์ เข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ทางคณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (โครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ) ให้กรมชลประทานดำเนิน โครงการผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำในจังหวัดระยอง โดยจะก่อสร้างระบบผันน้ำจากคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ก่อนที่จะส่งน้ำต่อมายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการ อุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และการอุตสาห กรรมในเขตจังหวัดระยอง นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ ดำเนินโครง การผันน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี โดยจะก่อสร้างระบบท่อผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การเกษตร และการอุปโภคบริโภค อีกโครงการหนึ่งที่จะทำเป็นโครงข่ายน้ำก็คือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ นอกจากนี้กรมชลประทานยังมีโครงการผันน้ำเชื่อมโยง สร้างเป็นโครงข่ายน้ำอีกหลายโครงการแต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ไม่ว่าจะเป็น โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักลงสู่ลุ่มน้ำลำตะคอง เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โครง การผันน้ำโขง-ชี-มูล ซึ่งเป็นเมกะโปรเจคท์ ที่จะพลิกฟื้นสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำให้สามารถขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง-เขื่อนภูมิพล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะสามารถผันน้ำมายังเขื่อนได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการผันน้ำ กก-อิง-น่าน มาเติมไว้เป็นน้ำต้นทุนของเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะได้ปริมาณน้ำอีกไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเช่นกัน ถ้าเราสามารถขยายผลโครงข่ายน้ำ ตามแนวพระราชดำริ โดยเชื่อมโยงแหล่งน้ำแต่ละแห่งที่มีศักยภาพเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไม่น้อยทีเดียว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์