กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมมือกันในเชิงนโยบายเพื่อการวิจัย พัฒนาการเกษตรมา ระยะหนึ่งแล้วในการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรกรรม และเตรียมความพร้อม รองรับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางสาวสุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าปัจจุบันภาคเกษตรไทยได้มาถึงจุดที่ต้อง มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก เนื่องจาก ประสิทธิภาพการผลิตของไทยลดลง ประการที่สอง ผลผลิตต่อพื้นที่ของสินค้าเกษตรหลายชนิดประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ประการที่สาม พื้นที่เพาะปลูกมีปริมาณจำกัด แต่ความต้องการใช้ผลผลิตทางการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ประการที่สี่ การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้ มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้าไปเพื่อทดแทนแรงงานที่หายากและมีราคาแพงมากขึ้น ประการที่ห้า ผู้บริโภค มีความต้องการสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ผลิตต้องสร้าง ความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของสินค้าที่ผลิตด้วย ต้องมีการนำเทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์ทดสอบมาใช้ควบคุมคุณภาพของสินค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบย้อนกลับ สุดท้าย ประการที่หก ภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างมาก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรขึ้น อยู่กับสภาพแวดล้อมสูง ดังนั้น การทำเกษตรกรรมในศตวรรษที่ 21 จะมีการ ผสมผสานระหว่างศาสตร์แขนงต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งวิทยาศาสตร์เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี เพื่อให้การทำการเกษตรมีความแม่นยำสูง
ด้าน นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล กุ้ง และไก่ ได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ภาคเกษตรจึงมีบทบาทในการสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แม้จะไม่สูงเทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับประชากรจำนวนมาก ทั้งเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตและเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้งประชากรผู้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความมั่นใจว่าแม้โลกจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติอาหาร แต่คนไทยก็ยังมีอาหารเพียงพอ ในวันนี้ภาคเกษตรต้องเผชิญกับ เรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง ซึ่งมา จากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลนพันธุ์ที่ดี ขาดการจัดการดินและน้ำ ตาม ที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น เมื่อประกอบกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตรอย่างเข้มข้น ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินการต่อไปยังจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก.กล่าวว่า ในอนาคต อีก 20 ปี ข้างหน้า คาดว่า โครงสร้างประชากรในสังคมไทย จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้กำลังแรงงานลดลง รวมทั้งการขยายตัวของสังคมเมือง จะทำให้แรงงานในภาคเกษตรลดลงด้วย ดังนั้น ในการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร ได้กำหนดให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาด การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการปรับระบบการผลิต การบริโภคที่เป็น คลูแอนด์กรีน ปลอดภัย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อน การดำเนินการเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยการผลิตบนพื้นฐานองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ลดแรงจูงใจในการออกจาก ภาคเกษตรและสนับสนุนการเจริญเติบโตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรอย่างต่อเนื่อง ...ความร่วมมือกันทั้งสองกระทรวงในการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมและการรับมือกับภาวะโลกร้อน รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคนิคและวิชาการเพื่อสร้างผลงานและวิทยาการใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและ/หรือจำเป็นสำหรับภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายใน การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์