เคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมเวลาเกิดโรคระบาดในสัตว์ เนื้อสัตว์ถึงมีราคาแพง นั่นเป็นเพราะว่าต้นทุนในการเลี้ยงปศุสัตว์ นอกจากจะอยู่ ที่ค่าพันธุ์สัตว์ อาหาร โรงเรือน และยารักษาโรคแล้วจำนวนสัตว์ที่ลดลงจากการป่วยหรือตาย ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่เกษตรกรไม่ควรมองข้าม เพราะส่งผลกระทบต่อตลาดปศุสัตว์โดยรวมโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อไก่และสุกรที่เป็นที่นิยมบริโภคในตลาดประเทศไทย
การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงมีค่าใช้จ่ายในด้านต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ในตลาดสูงตาม แต่หากสามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนหรือแม้แต่ลดการสูญเสียลงก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องสินค้าปศุสัตว์แพงหรือขาดตลาดได้
โดยเฉลี่ยคนไทยบริโภคเนื้อไก่และสุกรรวมกันประมาณ 26 กิโลกรัม/คน/ปี กรมปศุสัตว์มุ่งหวังที่จะให้ประชาชนคนไทยมีเนื้อสัตว์บริโภคอย่างพอเพียง ปลอดภัยจากสารตกค้าง การปนเปื้อนเชื้อโรค มีคุณค่าทางด้านโภชนาการครบถ้วน จึงมีนโยบายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในสัตว์ควบคู่ไปด้วย เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสในการประกอบอาชีพปศุสัตว์ให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะได้เป็นวงจรกลับมาให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าในราคายุติธรรมโดยโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญในไก่และสัตว์ปีกทุกชนิด คือ ไข้หวัดนก ส่วนในสุกร ได้แก่ โรค PRRS อหิวาต์หมู และ PED โรคท้องร่วงในสุกร สำหรับโรคระบาดสำคัญที่เกิดกับสุกรดังกล่าวข้างต้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับไข้หวัดนก ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงจะใช้วิธีรักษาตามอาการ อย่างไรก็ตาม หากเกิดการระบาดขึ้น แม้จะไม่รุนแรงและรวดเร็วเท่าหวัดนก แต่ก็ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียสุกรไปกว่า 50-80% ดังนั้นเกษตรกรจึงควรต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคจะดีที่สุด
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กล่าวว่า สำหรับโรคระบาดสำคัญที่เกิดขึ้นในสุกร เช่น โรค PRRS โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกรนั้น เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งโรค PRRS จะทำให้สัตว์ตายจากโรคแทรกซ้อน ลูกแท้ง และลูกสุกรแคระแกร็น ส่วนโรค PED เป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในสุกรทุกอายุ โดยสุกรป่วยจะแสดงอาการท้องเสีย อาเจียน อัตราการตายในลูกสุกรดูดนมอาจสูงถึง 100% ซึ่งโรคดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง หรือช่วงฤดูฝน มีน้ำท่วมขัง ซึ่งจะทำให้สุกรเกิดความเครียด ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ ลดลง ทำให้สัตว์ติดเชื้อโรคได้ง่าย จากรายงานการเกิดโรคตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2547 พบว่าการระบาดของโรค PRRS และ PED มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปตามลักษณะการจัดการและการเลี้ยง
ดังนั้นเกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือน หรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคาป้องกันฝน ลม ละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง พ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีการจับหมูขาย รถจับหมูต้องได้รับการล้างและฆ่าเชื้ออย่างดีก่อนเข้าบริเวณฟาร์ม และเข้มงวดเรื่องคนงานในเล้าคลอด ห้ามปะปนกับส่วนอื่น รวมทั้งเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของกรมปศุสัตว์ที่จะช่วยเหลือภาคปศุสัตว์ของไทยก็ ยังคงดำเนินต่อไป เห็นได้จากผลในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์สุกร ซึ่งกรมปศุสัตว์ใช้เชื้อไวรัสที่เก็บจากพื้นที่เกิดโรคมาผลิตเป็นวัคซีน ทำให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ดีกว่าวัคซีนที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป และผลิตขนาดบรรจุขวดละ 10 โด๊ส จำหน่ายในราคาถูก คือขวดละ 30 บาท เพื่อจำหน่ายปลีก อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรรายย่อย
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์