สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางเดินทางสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการ สื่อศิลปินรวมใจถวายในหลวง เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 53 ที่ผ่านมา โดยเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน และความคืบหน้าในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการด้วยกัน พร้อมทัศนศึกษาวิถีชีวิตประชาชนในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้ประชาชนคนไทยต่างกังวลกันว่าน่าจะไม่ปลอดภัยหากเดินทางเข้าไป
แต่ทว่ากลับตรงกันข้ามเมื่อคณะ ได้เยื้องกรายเข้าไป ประชาชนในพื้นที่ต่างดีใจและให้การต้อนรับอย่างเต็มที่กว่า 100 ชีวิตจากกรุงเทพมหานคร ต่างมีอิสระในการเดินทางเข้าท่องเที่ยวเยี่ยมชมพร้อมสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้ตลอดเวลาไม่ว่ายามนั้นจะเป็นย่ำค่ำ กลางคืน หรือดึกดื่น ไปจนถึง ย่ำรุ่งที่ตลาดเช้าของเบตง ประชาชนในตลาดเบตงต่างแสดงความดีใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อพบเห็นและรับทราบว่าผู้คนจำนวนมากที่เดินจับจ่ายซื้อผลไม้และข้าวของที่เป็นผลผลิตจากพื้นที่ของอำเภอเบตงอยู่นั้นคือคนจากกรุงเทพมหานคร
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันในพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทยนั้นมีความปลอดภัยและไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่จะเป็นภัยต่อผู้คนในพื้นที่และที่เดินทางเข้ามาเยือน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต่างมีความเข้าใจและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันต่างก็ให้ความร่วมมือกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพราะต่างเข้าใจเป็นอย่างดีว่าหากบ้านเมืองสงบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ก็จะดีขึ้นเป็นทับทวี ในการเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวเมืองเบตงในครั้งนี้คณะได้รับความกรุณาจาก นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ คอยให้คำตอบแก่คณะถึงเส้นทางการทำมาหากินของราษฎรชาวเบตง โดยเฉพาะ ผลผลิตภาคการเกษตรที่มีจำหน่ายอย่างเนืองแน่นและล้วนแต่มีคุณภาพแทบทั้งสิ้นนั้นว่า การเพาะปลูกพืชทุกชนิดของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเบตง ได้รับ อานิสงส์มาจากธรรมชาติ ที่มีความสมบูรณ์โดยพื้นฐานอยู่แล้วจึงเป็นผลให้ผลผลิตภาคการเกษตรที่นำออกมาจำหน่ายมีคุณภาพดังที่พบเห็น
เบตงเป็นอำเภอขนาดใหญ่ในจังหวัดยะลา ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2441 คำว่า เบตง มาจากภาษามลายู ที่หมายถึง ไม้ไผ่ หรือ ไผ่ตง มีประชากรประมาณ 56,471 คน ประกอบด้วยคนไทยหลาก หลายเชื้อชาติ เป็นคนไทย-มลายูมุสลิมเกือบร้อยละ 50 คนไทยเชื้อสายจีน เช่น ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว จีนแคะ กวางสี ร้อยละ 30 และคนไทยพุทธร้อยละ 20 อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ก่อให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างลงตัว ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกยางพารา สวนผลไม้และทำไร่ ปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ผักน้ำ ในตัวเมืองส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว
จึงไม่น่าแปลกใจที่เบตงในวันนี้คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับคนไทยนั้นพบว่าเริ่มมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์