สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีงานเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมที่ ส.ป.ก.มอบให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ 32.3 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานประมาณ 1.1 ล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทานและมีแหล่งน้ำที่พอเลี้ยง ตัวเองได้ ประมาณ 10.4 ล้านไร่ และพื้นที่ที่เหลืออีก 20 ล้านไร่ กำลังประสบปัญหาการ ทำการเกษตรอย่างรุนแรง โดยต้องอาศัยน้ำฝน ทั้งนี้หากช่วงไหนฝนทิ้งช่วง ผลผลิตก็จะเกิดความเสียหาย ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ที่ผ่านมา นอกจากจะร่วมมือกับกรมชลประทานในการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมีแหล่งน้ำ ต้นทุนพอเพียงแก่การประกอบอาชีพแล้ว ยัง ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษา โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตปฏิรูป ที่ดิน ที่ดินจังหวัดอุทัยธานี พื้นที่ 400,000 ไร่ เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะทำการศึกษา 5 ด้านหลัก คือ ด้านวิศวกรรม ด้านเกษตรกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม เพื่อให้รับทราบถึงศักยภาพและรูปแบบการ พัฒนาความคุ้มค่าต่อการลงทุน และประการสำคัญจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
ผลจากการศึกษา พบว่าจังหวัดอุทัยธานีมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำ ประมาณ 200,000 ไร่ โดยต้องทำการก่อสร้างอาคารชลประทาน 240 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ การ ขุดลอก คลอง หนอง บึง อีกทั้งการขุดสระน้ำ ซึ่งทาง ส.ป.ก.จะนำผลการศึกษาไปหารือร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ความเห็นชอบพื้นที่ก่อสร้าง จากนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสรุปรายงานความเหมาะสม โดยจัดลำดับความสำคัญไว้อย่างชัดเจน ในการช่วยเหลือเกษตรกร
ทั้งนี้ผลจากการศึกษาแผนแม่บท จะใช้เป็นแนวทางในการสำรวจ และออกแบบก่อสร้าง โดยส.ป.ก. จังหวัดประสานไปยังจังหวัด ชี้ถึงจุดก่อสร้างแหล่งน้ำว่าจะสามารถ เก็บกักน้ำได้จำนวนเท่าไร มีเกษตรกรกี่รายที่จะได้รับประโยชน์ดังกล่าว เป็นพื้นที่กี่ไร่เพื่อเสนอของบประมาณจากจังหวัด ในการก่อสร้าง และประการสำคัญ ผลการศึกษาดังกล่าวจะนำมาใช้เพื่อนำมาพิจารณาจัดสรรงบประมาณท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่ โดยจะวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ส.ป.ก.ได้กำหนดการศึกษาโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีละประมาณ 6 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 5 ปี ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ จำนวน 30 ล้านไร่ เพื่อศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำฝนเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป
สำหรับในปี 2554 ซึ่ง ส.ป.ก.ได้คัดเลือกจังหวัดที่จะศึกษาโครงการ ดังกล่าว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, อุบลราชธานี กำแพงเพชร, ตาก, สระแก้ว และ กาญจน บุรี ตามแนวทางจากการศึกษาของจังหวัดอุทัยธานี โดยพิจารณาพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งหาแหล่งน้ำอย่างเร่งด่วน การศึกษาแผนแม่บทเพื่อวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน จะทำให้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน มีแผนการดำเนินการในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำเต็มศักยภาพของพื้นที่ และยังเป็นข้อมูลในการบูรณาการแผนงานร่วมกับกรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน ในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน
อย่างไรก็ตามยังสามารถกำหนดเป็นแผน สำรวจและออกแบบในปีต่อ ๆ ไป เพื่อนำไป ก่อสร้างในนิคมการเกษตร และนิคมเศรษฐกิจ พอเพียง ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และนำผลมาศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับส.ป.ก. จังหวัด นำไปใช้บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไปในอนาคต.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์