สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตรกิจกรรมการปลูกไม้ดอกตามพระราชดำริในแปลงปลูกทดสอบไม้ดอก-ไม้ประดับที่สวนยางเขาสำนัก ศูนย์การศึกษา พิกุลทอง เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2537 ที่ผ่านมา ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาแล้วไป ทดสอบบนพื้นที่ที่มีระดับความสูงจาก ระดับน้ำทะเลมากขึ้น ได้แก่ พื้นที่สูงอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาจจะสามารถพัฒนาคุณภาพของไม้ดอกดียิ่งขึ้น เมื่อทดสอบได้ผลดีแล้วจึงนำไปขยายผลออกสู่เกษตรกรข้างเคียงที่มีความสนใจต่อไป สำนักงาน กปร. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส และจังหวัดยะลาได้ร่วมกันสนองพระราชดำริโดยการใช้พื้นที่หมู่บ้านปิยะมิตร 2 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จัดทำโครงการฯ ทำการทดสอบและพัฒนาการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวเพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศการเกษตร ในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอกและไม้ผลเมืองหนาว
มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 60 ไร่ แบ่ง เป็นพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ประมาณ 20 ไร่พื้นที่ขยายผลเพื่อการท่องเที่ยว ประมาณ 20 ไร่ และพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกจำนวนหนึ่งการทดลองวิจัย ในระยะที่ 1 ระหว่าง ปี 2538-2547 ทางกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเตรียมพื้นที่ และนำพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาวจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อปลูกทดสอบโดยแบ่งเป็นไม้ดอกปลูกกลางแจ้ง จำนวน 17 ชนิด ได้แก่ แกลดิโอลัส บานไม่รู้โรย ซัลเวีย รักเร่ ซ่อนกลิ่น สร้อยไก่ กระเจียว มากาเร็ต กระดาษ ฮอลลีฮ๊อค ดาวเรือง ผีเสื้อ พิค๊อก สร้อยทอง แอสเตอร์จีน เสี้ยนฝรั่ง และดอกกระดาษ ไม้ดอกในโรงเรือน จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ เบญจมาศ กุหลาบ คาร์เนชั่น ลิลลี่ เยอร์บีร่า พิค๊อก และหน้าวัว พบว่าไม้ดอกทุกชนิดมีคุณภาพการให้ดอกสูงกว่าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุล ทองฯ โดยเฉพาะเบญจมาศและแกลดิโอลัส สามารถเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์เพราะให้ดอกดีสวยงามตรงตามความต้องการของตลาด ในระยะที่ 2 ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ได้ทำการทดลองปลูกหน้าวัวลูกผสมสายพันธุ์ โดย กรมวิชาการเกษตร พบว่าหน้าวัวลูกผสมมีผลผลิตไม่แตกต่างจากการทดลองปลูกในภาคเหนือ ขณะที่สีของ ดอกมีความสวยงามกว่ามีความทนทานต่อสภาพ แวดล้อม และมีการแตกกอดี ราษฎรในพื้นที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้
ด้านการขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาได้ดำเนินการวางแผนการผลิตติดตาม แนะนำให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ และ เกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ พร้อมนำพันธุ์เบญจมาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ให้แก่เกษตรกรจำนวน 4 สายพันธุ์ คือ ลิมบอนเนต ประเภทดอกเดี่ยวสีขาว เรโชมี ประเภท ดอกเดี่ยวสีม่วง จากั้วเรด ประเภทดอกช่อสีแดง และชมพูหวาน ประเภทดอกช่อสีชมพู ซึ่งทั้ง 4 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีในพื้นที่ และเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลการดำเนินงานโครงการฯ และ เกษตรกรได้ขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ และส่วนราชการได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วประกอบด้วย การขอพระราชทานความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ซึ่งนายเทียนฮก แซ่หวัง ผู้จัดการโครงการ ได้จัดหาแรงงานเพิ่มแล้ว การขอให้หน่วยงานราชการมาแนะนำความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการผลิตไม้กระถางและการขยายพันธุ์ไม้ดอกและไม้ผลเมืองหนาวชนิดใหม่ ทางจังหวัดยะลาได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริดังกล่าวโดยให้ลูกหลานของสมาชิกหมู่บ้านปิยมิตร 2 เข้ามาเรียนรู้ โดยเฉพาะบุตรหลานเกษตรกรในพื้นที่ในช่วงปิดเทอมจะได้รับการอบรมเรื่องการเพาะปลูกไม้ดอกเมืองหนาวแต่ละชนิด และเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่การเข้าใจของเกษตรกรในพื้นที่และประชาชน ทั่วไปตลอดถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเที่ยวชม ทางสำนักงานเกษตรยะลาได้จัดทำป้ายกำกับชื่อพันธุ์ไม้ เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย จีน และอังกฤษ ติดตั้งโดยทั่วบริเวณอีกด้วย.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์