จากสถานการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่ สืบเนื่องจากปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงหลายด้าน เช่น การศึกษา, ความยุติธรรม, ความยากจน, ยาเสพติด สภาพสังคมจิตวิทยาที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้รายได้ต่อบุคคลในพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ ต่ำกว่ารายได้ประชากร โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ ประชาชนในพื้นที่ส่วนมากจะว่างงานและยากจน เกิดปัญหาความหวาดระแวงและเหินห่างระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร รองผู้บัญชาการทหารบกในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้ อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จึงได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง และยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยการ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจแบบพอเพียงขึ้น ณ ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการฝึกอบรมและเป็นสถานที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลัก และเพิ่มเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อรับสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน และอนาคต และให้เกิดความคุ้นเคยใกล้ชิดกันระหว่างทหารกับประชาชน โดยเป็นเรื่อง ที่ทำได้ง่าย ๆ ราษฎรสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือลดต้นทุนในการทำไร่ ทำนา ทำสวน โดยการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ ทำฮอร์โมนผลไม้ ทำสารไล่แมลงไว้ใช้เอง นำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบ เช่น มูลสัตว์หนึ่งส่วน รำหนึ่งส่วน แกลบดิบหนึ่งส่วนคลุกเคล้าให้เข้ากันและ นำเอาจุลินทรีย์ขยายมาผสมให้ได้ความชื้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หมักไว้ในกระสอบ ประมาณสามวันก็จะเกิดความร้อนและเมื่อ ปุ๋ยหมักเย็นลงในวันที่ 7 ก็นำไปใช้ได้เลย จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนได้มากและ ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นอีกทั้งยังไร้สารเคมี ทำให้ ผู้บริโภคปลอดภัย เช่น แต่ก่อนเกษตรกร ทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตจะได้ไม่เกิน 400 กิโลกรัมต่อไร่ กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ไม่มีและทำให้ดินเสีย เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตจะได้ ประมาณ 1,000 กิโลกรัม ถึง 1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ และจะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ กุ้ง หอย ปู ปลา ก็จะกลับมาสู่ธรรมชาติ
ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกขนาดเล็ก โดยขุดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 1 เมตร โดยขุดบ่อให้ลาดเอียงพอสวยงาม แล้วนำผ้าพลาสติกมาปูและเติมน้ำให้เต็มบ่อ จนไม่เห็นผ้าพลาสติก แล้วนำหญ้ามาปลูกรอบ ๆ บ่อ สามารถเลี้ยงปลา ได้ประมาณ 300-1,000 ตัว ภายใน 45 วัน ก็สามารถจับมาประกอบอาหารได้ สำหรับอาหารปลาก็ทำได้เอง โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น มูลสัตว์, รำ, ผักกระถิน , ผักบุ้งและ ต้นสาคู นำส่วนผสมอย่างละหนึ่งส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันโดยใช้น้ำจุลินทรีย์ ที่ขยายช่วยผสมให้ได้ความชื้นพอเหมาะ โดยการปั้นให้เป็นก้อนแล้วนำไปตากที่ร่มทิ้งไว้ 3 วัน แล้วนำไปให้ปลากินได้ ส่วนการบำบัดน้ำเสียในบ่อปลาใช้จุลินทรีย์ ที่ขยายแล้วทำการบำบัดทุก 2- 3 วันต่อครั้ง น้ำในบ่อปลาก็จะดี ให้มีการปลูกพืชผักสวนครัวรอบ ๆ บ่อปลา และตามแนวรั้ว มีทั้งผักที่ ใช้ประกอบอาหาร พริก ข่า ตะไคร้ และ ผักที่ปลูกไว้ รับประทาน เช่น ผักกาด ผักคะน้า กะหล่ำปลี ไม่ต้องไป ซื้อ เป็นการประหยัดรายจ่าย ทั้ง ยังได้รับประทานผักที่ไร้สารเคมี เหมือนคำกล่าวที่ว่า กินทุกอย่างที่เราปลูก ปลูกทุกอย่างที่เรากิน โดยการตักน้ำในบ่อเลี้ยงปลามารดผัก ปลูกไว้รอบ ๆ บ่อปลาซึ่งเป็นน้ำต้นทุน หากมีแมลงมารบกวนก็ใช้สุโตจู เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช ใช้ฮอร์โมนผลไม้ฉีดพ่นเป็นประจำ พืชจะสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวน
และการเลี้ยงไก่พื้นเมืองโดยการใช้ปลวกมาเป็นอาหารเสริมของไก่ เพื่อให้ราษฎรได้มีไข่และเนื้อไก่ไว้รับประทาน โดยการทำเล้าไก่ ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร หรือแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ แต่เลือกพื้นที่สูงน้ำไม่ขัง ข้างล่างล้อมรั้วด้วยผ้าตาข่าย สีฟ้า ป้องกันสัตว์เลื้อยคลานด้านบนล้อม รอบด้วยตาข่ายห่างสีเขียว ป้องกันไก่บิน เลี้ยงไก่ได้ 15 ตัว ทำหลุมเพาะปลวก ด้วยวิธีทำ ขุดหลุมลึกประมาณ 1 คืบ กว้าง 50x50 เซนติเมตร เอามูลวัวควาย มารองพื้นแล้วนำเศษไม้ที่ผุมาเรียงเป็นชั้นนำกระสอบป่านมา ปิดไว้ 3-5 วัน แล้วเปิดให้ไก่กินวันละหนึ่ง ถึงสองหลุม ซึ่งจะทำให้ไก่โตเร็วและเป็นการประหยัดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง โดยราษฎรที่ผ่านการอบรมจากโครงการนี้ต่างมีความพึงพอใจ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งในด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมงและสิ่งแวดล้อม นับเป็นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดทางด้านสังคม ระหว่างผู้คนที่อยู่ในท้องถิ่นและนอกชุมชน ซึ่งจะเป็นการลดความหวาดระแวง ระหว่างราษฎรกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมี การรวมตัวกันของราษฎรอย่างเข้มแข็ง สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความยากจนและความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ก็จะค่อย ๆ หมดไปในที่สุด.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์