"ปลาโมง หรือ ปลาเผาะเป็นปลาที่พบมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นปลาที่นิยมนำมาบริโภคกันมาก เนื่องจากลักษณะปลามีก้างน้อยและไขมันต่ำ จุดเด่นที่สำคัญของปลาโมงคือมีเนื้อสีขาวรสชาติดี ทำให้ความต้องการของตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อปลาแบบแช่เย็นและแช่แข็ง ซึ่งชาวยุโรปนิยมนำไปทำสเต๊กปลา จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะพัฒนาการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปปลาโมงให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง แช่เย็นเป็นตลาดอาหารที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งแช่เย็น ที่ใช้วัตถุดิบจากเนื้อปลา ซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี จากข้อได้เปรียบดังกล่าวทำให้กรมประมงได้ทำการศึกษาวิจัยและทดลองแปรรูปปลาโมง
เพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพและเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงให้มีการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ปลาโมงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจส่งออกตัวใหม่ของไทยในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันผลผลิตปลาโมงตามธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงประมาณปีละ 327 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 19,601,010 บาท คณะผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลาโมง นำโดยนางสาวอรวรรณ คงพันธุ์ นางสาววัชรี คงรัตน์ นางสาวรัศมีพร จิระเดชประไพ และนายสรเมษ ชโลวัฒนะ จากกองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ได้ให้รายละเอียดว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาโมงเป็นอาหารพร้อมบริโภค 2 ประเภทคือ ประเภทแช่เย็น ได้แก่ แฮมปลาโมงรมควันด้วยชานอ้อยและไม้บีช บรรจุในถุงพลาสติกในสภาวะสุญญากาศ และประเภทแช่เยือกแข็ง ได้แก่ เบอร์เกอร์ปลาโมงแบบใส่ชิ้นเนื้อปลาอบและใส่ชิ้นเนื้อปลารมควันบรรจุ โดยวางบนถาดโพลีสไตรีนใส่ในถุงไนลอน โพลีเอทธิลีน และข้าวพร้อมฉู่ฉี่ปลาโมงแบบใส่ชิ้นเนื้อปลานึ่ง และเนื้อปลาทอดบรรจุในกล่องกระดาษที่เคลือบด้านในด้วยพลาสติกโพลีเอทธิลีน
โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้ผ่านการ ทดสอบ และได้รับการยอมรับในระดับดี และได้มีการนำเสนอในเวทีการประกวดของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลปรากฏว่าได้รับรางวัลดีเด่น
ประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในการที่จะผลักดันปลาเผาะ ให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกของไทยอีกตัวหนึ่งเนื่องจากเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในแถบลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีพื้นที่ในหลายจังหวัดของไทยที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาเผาะ ทั้งในกระชังและบ่อดิน ราคาของปลาเผาะที่ส่งออกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท และหากส่งออกต่างประเทศ จะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ ประมาณ 400 บาท.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์