รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ผลจากการนำเข้านมผงดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาการนำนมผงมาใช้แทนที่น้ำนมดิบในประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยง โคนมของไทยจำเป็นต้องมีการปรับระบบการเลี้ยงโคนมใหม่ โดยให้มีต้นทุนลดลงและมีประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อดำเนินการในโครงการดังกล่าว โดยการคัดเลือกสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 20 สหกรณ์และคัดเลือกทีมที่ปรึกษาของแต่ละสหกรณ์ โดยดำเนินการเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มพร้อมดูแลสุขภาพโคนมของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินการในโครงการนี้ได้มีการจัดอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผลการประเมินจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าเกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในคำแนะนำและการจัดอบรมของทีมที่ปรึกษาในระดับค่อนข้างมาก และมีการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในฟาร์มทุกราย ส่งผลให้สามารถดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบในฟาร์มของเกษตรกร ซึ่งสามารถดำเนินการเกินเป้าหมายได้ร้อยละ 10 การลดช่วงห่างการให้ลูก เกษตรกรดำเนินการได้เกินเป้าหมายร้อยละ 30 การปรับสัดส่วนแม่โคต่อฝูงโคนม เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม โดยเกษตรกรสามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายถึงร้อยละ 60 และการเพิ่มคุณภาพน้ำนม ดิบในฟาร์มของเกษตรกร พบว่าส่วนใหญ่เกษตรกรสามารถดำเนินการ ได้เกินเป้าหมายที่กำหนดเช่นเดียวกัน
จากผลสำเร็จของการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม รวมทั้งเพิ่มโอกาส ในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้มีการสนับสนุนเพื่อการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและขยายผลต่อไปในอนาคตอีกด้วย และล่าสุด นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพบกับผู้แทนจากชุมนุมสหกรณ์ โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันก่อนว่าได้มีการพูดคุยกันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาการเลี้ยงโคนม ที่สำคัญทางชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีความพอใจต่อมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำนมดิบ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้มีการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาท จากเดิมราคา 16.50 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 17.00 บาทต่อกิโลกรัม โดยคำนวณจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2553 ทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 13.27 บาทต่อกิโลกรัม บวกกำไรเบื้องต้นของเกษตรกรและค่าบริหารจัดการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ที่ต้องประสบกับภาวะต้นทุนปัจจัยการผลิตและอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวของการเลี้ยงโคนมทั้งระบบ ซึ่งในบางส่วนมีความสอดคล้องกับความ คิดเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม อาทิ การจัดให้มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ข้อร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม การทบทวนต้นทุนการเลี้ยงโคนมและราคารับซื้อน้ำนมดิบอย่างน้อยทุก 6 เดือน นอกจากนี้ ทางชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ ยังได้เสนอแนวทางต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโคนมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมโดยการปรับขนาดฝูงโครีดนมหรือโครงการโคทดแทน รวมทั้งการผลักดันให้มีโรงงานแปรรูปน้ำนมดิบของเกษตรกรเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงงานแปรรูปจากต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาความเป็นไปได้และศึกษาปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ หาแนวทางเพื่อการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในด้านคุณภาพมาตรฐานน้ำนมดิบ และการลดต้นทุนการผลิตให้เป็นรูปธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้วงการโคนมของไทยได้พัฒนาต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะลดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์