รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า การขึ้นปกคลุมของไม้เถากรณีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่กำลังเป็นประเด็นสังคมด้านระบบนิเวศธรรมชาตินั้น ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการทดแทนตามธรรมชาติ (natural succession) ในพื้นที่ป่า เป็นการปรับตัวเข้าสู่สภาวะสมดุลของธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่หมู่ไม้เข้าสู่ภาวะสมดุลไม้เถาก็ จะตายลงบางส่วนทำให้มีจำนวนลดลง และ ไม้ยืนต้นก็จะเข้ามาแทนที่โดยอัตโนมัติ การปล่อยให้กระบวนการทดแทนตามธรรมชาติของป่าไม้นี้ดำเนินไปด้วยตัวมันเองอย่างช้า ๆ อาจต้องรอไม่น้อยกว่า 30 ปี กว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล แต่หากต้องการให้กระบวนการทดแทนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็จำเป็นต้องนำการจัดการเข้าช่วยในกระบวน การทดแทน โดยสามารถลดระยะเวลาลงมาเหลือแค่ 10-15 ปี ซึ่งทั้งการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือการนำเทคโนโลยีเข้าไปจัดการนั้นไม่มีวิธีใดผิด แต่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการจัดการและความต้องการของสังคม
การเข้าไปจัดการระบบธรรมชาติในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ในการจัดการพื้นที่หรือใช้ประโยชน์พื้นที่ ความหลากหลายทางนิเวศวิทยา ความคุ้มค่าในการดำเนินการ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจในการเข้าดำเนินการจัดการ โดยขบวนการของการจัดการต้องมีการสำรวจและวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของการเข้าจัดการ สำหรับเถาวัลย์หรือไม้เถานี้สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่ 1 จำแนกตามอายุ แบ่งได้เป็น ไม้เถาอายุปีเดียว (annual climber) ไม้เถาอายุ 2 ปี (biennial climber) และ ไม้เถาอายุหลายปี (perennial climber) กลุ่มที่ 2 จำแนกตามลักษณะของเนื้อไม้ แบ่งได้เป็น ไม้เถาเนื้ออ่อนและอวบน้ำ (herbaceous and succulent climber) และ ไม้เถาเนื้อแข็ง (woody climber) กลุ่มที่ 3 จำแนกตามการเกาะเกี่ยว แบ่งได้เป็น การเลื้อยพันแบบพาดพิง (leaner) การเลื้อยแบบขัดสาน (weaver) และ การเลื้อยพัน เกาะ ยึด เกี่ยวกัน (grasper)
ไม้เถาหรือเถาวัลย์โดยเฉพาะไม้เถาเนื้อแข็งพบได้มากในป่าเขตร้อน เพราะเป็นไม้ที่ชอบแสงมาก เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่ง ส่วนพวกไม้เถาล้มลุกพบได้ในเขตป่าอบอุ่น ซึ่งมีรายงานว่า ไม้เถา มีประมาณ 50% ของพืชดอกที่มีอยู่ โดยไม้เถาในป่าเขตร้อนพบประมาณ 25% ของพืชที่มีเนื้อไม้ ซึ่งในป่าแถบอะเมซอนมีความหลากหลายของไม้เถาสูงถึง 44% ของพืชที่มีเนื้อไม้ จึงสามารถยึดครองพื้นที่ได้ก่อนไม้ชนิดอื่น ปัญหาการบุกรุกของไม้จึงมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ถูกทำลายหรืออยู่ในช่วงของการเป็นป่าทดแทน (secondary forest) ที่มีไม้ยืนต้นน้อย ทำให้แสงตกถึงพื้นได้มากส่งผลให้ไม้เถาสืบพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติทำให้เกิดการรุกรานเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์การ สืบพันธุ์ของไม้เถาเป็นไปได้ยากเนื่องจาก ขาดแสง
ทุกสิ่งล้วนมีทั้งคุณและโทษ ไม้เถาก็เช่นกัน บางชนิดมีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงเครื่องประดับตกแต่ง และยังนำมาทำอาหารให้กับสัตว์บางชนิด ในส่วนของโทษหรือข้อเสียก็มีเช่นกัน ไม้เถาบางชนิดเป็นพิษ หรือหากขึ้นไป เกาะเกี่ยวอยู่บนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ยืนต้น อยู่อย่างโดดเดี่ยวก็อาจส่งผลให้ต้นไม้นั้นโค่นล้มได้
ดังนั้นการจัดการไม้เถาจึงจำเป็นต้อง มีความรอบคอบและต้องมองหลายด้านด้วย เช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อมสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2561-4761 หรือดูที่ www.frc.forest.ku.ac.th.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์