นายโกวิทย์ เพ่งวานิชย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า โครงการป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแก้ไขป้องกัน หรือช่วยบรรเทาปัญหาในการที่น้ำในแม่น้ำลำคลองซึ่งมีระดับสูงในฤดูน้ำหลาก ไม่ให้น้ำนั้นไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่และทำความเสียหายให้กับพืชที่ปลูกหรือท่วมพื้นที่ในเขตชุมชนให้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อปี 2551 ถึงแนวทางในการแก้ไขป้องกันและ บรรเทาน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวพระราชดำริ มาประสานงานแบบบูรณาการเพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้าง แก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงน้ำหลากเพิ่มเติม
ในปีที่ผ่านมาได้รับข้อมูลจากทางจังหวัดจันทบุรีว่าฝนตกมากกว่าปีก่อน แต่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมมากนักเพราะได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปใช้ และสำนักงาน กปร. ก็สนับสนุนงบประมาณให้ไปก่อสร้างแก้มลิง สำหรับในปี 2553 จะมีการประชุมร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะเพื่อเตรียมแผนรองรับ ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เกิดเหตุการณ์ปริมาณน้ำมาก จะได้บรรเทาลงหรือสามารถแก้ไขปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา ได้ นายโกวิทย์ เพ่งวานิชย์ รองเลขา ธิการ กปร. กล่าว
สำหรับในปี 2552 ที่ผ่านมาการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวได้แยกออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี ระยะที่ 2 การขุดคลองบายพาสเลี่ยงเมือง และโครงการผันน้ำจากคลองวังโตนด รวมทั้งมีการวางระบบการบริหารจัดการและติดตั้งระบบโทรมาตรในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อใช้ในการพยากรณ์และเตือนภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ซึ่งจะเป็น การช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรีและ จังหวัดใกล้เคียงได้ นอกจากนี้ได้มีการขุดคลองผันน้ำสายใหม่ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี บริเวณเหนือฝายยาง ผ่านทุ่งสระบาป และขยายคลองเชื่อมไปลงคลองอ่าง เพื่อระบายออกสู่ทะเล พร้อมก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้าคลองผันน้ำ 25 แห่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และปรับปรุงสะพานอีก 10 แห่ง อีกด้วย
สำหรับแผนระยะที่ 2 นั้นจะผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะสามารถรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน จากคลองวังโตนดผันผ่านท่อที่วางขนานไปตามทางหลวงชนบท ผ่านชุมชนต่าง ๆ ไปจนถึงอ่างเก็บน้ำประแสร์ รวมความยาวทั้งสิ้น 45.697 กิโลเมตร ผันน้ำประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีสถานีสูบน้ำที่บ้านวังประดู่ ซึ่งหากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี และลุ่มน้ำทับมา จังหวัดระยอง จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนตลอดไป
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จทุกโครงการ จะทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในตัวเมืองจันทบุรีมีศักยภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำบางส่วนสำหรับการเกษตรประมาณ 5,000 ไร่ ตลอดจนช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง และระบายน้ำลงสู่ทะเล พร้อมทั้งใช้เป็นกลไกในการหน่วงน้ำหากมีปริมาณน้ำมากหากปล่อยลงมาพร้อม ๆกันอาจจะเอ่อท่วมพื้นที่ทางตอนล่างก่อนลงสู่ทะเลได้ด้วย นายโกวิทย์ เพ่งวานิชย์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์