จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยช่วงหน้าฝน ปี 2553 หลายหน่วยงานได้ร่วมบูรณาการเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะยาว สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ โดยนายจริย์ ตุลยานนท์ ประธานคณะกรรมการฯ พร้อมด้วยนายโกวิทย์ เพ่งวานิชย์ รองเลขาธิการ กปร. นายชัยนรินทร์ พันธ์ภิญญาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ณ โครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการระบายน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สำหรับโครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงแล้วเสร็จจะสามารถลดระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงคุ้งน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จากเดิมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เหลือประมาณ 600 เมตรเท่านั้น การระบายน้ำที่รวดเร็วขึ้นนี้ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เป็นอย่างดี
นายจริย์ ตุลยานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามพระราชดำริ เปิดเผยว่า ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์มีประสิทธิ ภาพสูง เนื่องจากตัวคลองลัดโพธิ์ อยู่ปลายแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นส่วนที่แคบลงมาตลอด แต่ท้ายคลองลัดโพธิ์จะเป็นบริเวณที่สามารถรับน้ำได้ถึง 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะฉะนั้นคลองลัดโพธิ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยระบายน้ำ โดยสามารถระบายน้ำได้วันละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังช่วยลดระดับน้ำในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง จากที่เคยคำนวณไว้ว่าช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเมื่อปี 2549 สามารถลดระดับน้ำตรงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ประมาณ 12-15 เซนติเมตร
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นความสำคัญของคลอง ลัดโพธิ์ และนอกจากประโยชน์ต่อการระบาย น้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้นแล้ว พื้นที่ชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอพระประแดงก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ นี้โดยประการสำคัญ คือ ตั้งแต่มีโครงการคลองลัดโพธิ์พื้นที่แห่งนี้ไม่เคยมีน้ำท่วมอีกเลย นายจริย์ กล่าว
ทางด้าน นายโกวิทย์ เพ่งวานิชย์ รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมโครงการคลองลัดโพธิ์ในครั้งนี้ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นการเพิ่มเติมว่า คลองลัดโพธิ์ปัจจุบันสามารถช่วยบรรเทาและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี สามารถระบายน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง น้ำเหนือที่ไหลลงมาสู่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะลงสู่ทะเลก็สามารถระบายได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้รับทราบข้อมูลจากนายกอบต. ทรงคะนอง และราษฎรในพื้นที่ว่า ก่อนที่จะมีโครงการคลองลัดโพธิ์ฯ น้ำจะท่วมทุกปี แต่เมื่อมีโครงการฯ แล้วน้ำไม่ท่วมเลย ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นไม่ต้องผจญกับภาวะน้ำท่วมขังเช่นอดีตที่ผ่านมา จากสายพระเนตรที่ยาวไกลได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้แก่พื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานครได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีโครงการคลองลัดโพธิ์ฯ ก็จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ยังคงมีอยู่ต่อไปและกทม. ก็จะไม่สามารถรับปริมาณน้ำก้อนใหญ่ ๆ เช่นในปี 2553 นี้ได้ นายโกวิทย์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าว
ส่วน นายวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า หลังจากที่มีโครงการคลองลัดโพธิ์แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาปัญหาเกี่ยวกับน้ำท่วมขังในพื้นที่ของชาวอำเภอพระประแดงไม่เกิดขึ้นเลย และไม่มีปัญหา น้ำท่วมที่สร้างปัญหาให้กับคนในชุมชน ซึ่ง ขณะที่หลายจังหวัดของประเทศไทยเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักก็เป็นบทพิสูจน์ได้ว่าสถานการณ์น้ำในปี 2553 นี้ ในพื้นที่นี้ไม่ได้รับความเสียหายแต่ประการใด คลองลัดโพธิ์นี้ไม่ได้ช่วยเฉพาะเขตพื้นที่ของพระประแดงเพียงเท่านั้น แต่ยัง ช่วยทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรีและปทุมธานีด้วย เพราะปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอย่างรวดเร็วจะช่วยลดระดับของแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างดีด้วย นายวัชระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคะนอง กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์