สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยเต่าทะเล ทรงตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยนับวันมีแต่จะลดน้อยลง มีสัตว์หลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะเต่าทะเล เช่น เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าตาแดง ซึ่งในอดีตเคยมีเป็นจำนวนมาก บัดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทาน เกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นถวายให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จัดเป็น ศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เริ่มเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2522 โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่เกาะมันในประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์เต่าทะเลได้เอง โดยวิธีการนำไข่เต่าจากธรรมชาติมาฟักแล้วไปเพาะเลี้ยงในบ่ออนุบาล เมื่อเติบโตพอจะดำรงอยู่ด้วยตัวเองได้ก็จะปล่อยกลับลงสู่ทะเล เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ต่อไป
ในบรรดาสัตว์ดึกดำบรรพ์แห่งท้องทะเลนั้น เต่าทะเล นับเป็นหนึ่งในผู้อาวุโสที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์มายาวนานถึงราว 220 ล้านปีเป็นประชากรอาวุโส แห่งท้องทะเล เต่าทะเล มีกระดองแข็งเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย จึงไม่ค่อยมีศัตรู หรือผู้ล่าชนิดใดสามารถล่าเต่าทะเลที่เติบโตและมีความแข็งแกร่งเต็มที่ได้ง่าย ๆ จึงมักมีอายุยืนยาวราว 80-120 ปี แต่ปัจจุบันเต่าทะเลกำลังมีปริมาณลดลง สาเหตุหลักมาจากการล่า ทั้งการเก็บไข่เต่ามากิน การกินเนื้อเต่าทะเล การรุกพื้นที่ชายหาดเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เต่าทะเลไม่มีที่วางไข่ รวมทั้งการทำประมงด้วยอวนที่ทำให้เต่าทะเลติดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เต่าทะเลนั้นเป็นสัตว์ที่หายใจด้วยปอด โดยมีรูจมูกสองรูบน ส่วนหัว ซึ่งมีความจำเป็นต้องว่ายขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำเป็นระยะ ๆ หากเผอิญเกิดไปติดอวนอยู่ใต้น้ำก็ต้องจมน้ำตายอย่างทุกข์ทรมานในที่สุด ท้องทะเลไทยเรานั้น ในอดีตเคยเป็นแหล่งที่มีเต่าทะเลชุกชุม มีการให้สัมปทานเก็บไข่เต่าทะเล และการล่าเต่าทะเลส่งกระดองเป็นสินค้าออก จนเต่าทะเลลดปริมาณลง โดยในปี พ.ศ. 2521 ที่ผ่านมาไทยได้ส่งกระดองเต่าทะเลเป็นสินค้าออกถึง 57,000 กิโลกรัม นับเป็นปริมาณมาก เต่าขนาดใหญ่กระดองจะมีน้ำหนักตัวละประมาณ 10 กิโลกรัม ฉะนั้นเต่าทะเลจะต้องตายไม่น้อยกว่า 5,700 ตัวในแต่ละปี เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณการส่งออกของ กระดองเต่า เมื่อชะตาชีวิตของเต่าทะเลใกล้ถึงจุดวิกฤติ หลายฝ่ายจึงได้เริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะร่วมกันดูแลอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างจริงจัง และโครงการสำคัญที่สามารถจะช่วยปกป้องคุ้มครองชีวิตเต่าทะเลก็คือ โครงการสมเด็จฯอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันในซึ่งเป็นโครง การในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน พบว่ามีความคืบหน้าในการเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเลแล้วปล่อยคืนสู่ท้องทะเลไทยได้อย่างต่อเนื่อง และที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นของสถานที่แห่งนี้คือการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชมและทัศนศึกษาได้อย่างเต็มที่ สำหรับท้องทะเลไทยปัจจุบันมีเต่าทะเลอาศัยอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ เต่าตนุ หรือเต่าแสงอาทิตย์ เต่ากระ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า หรือเต่าสาหร่ายตาแดง และเต่าหัวค้อน โดยเต่าทะเลทั้ง 5 ชนิดจะพบทางฝั่งทะเลอันดามันในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยจะพบเพียงเต่าตนุและเต่ากระเท่านั้น.
ที่มา และ ภาพประกอบ : เดลินิวส์ ออนไลน์